CWT ตั้งบ.ร่วมทุน ลุยโรงไฟฟ้าขยะแห่งแรกในภาคเหนือ มูลค่า 1.47 พันลบ.
CWT ตั้งบ.ร่วมทุน 2 แห่งทำโรงไฟฟ้าขยะแห่งแรกในภาคเหนือขนาด 10 MW มูลค่าราว 1.47 พันลบ. คาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาดังกล่าวภายในเดือนก.ค.58
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานว่า บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป หรือ CWT ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน 2 แห่ง โดยถือหุ้นแห่งละ 65% เพื่อดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะ ขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1,468 ล้านบาท โดยเมื่อเทียบเท่ามูลค่าการลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ราว 954,646,378 บาท ซึ่งจะเริ่มการก่อสร้างได้ทันที เมื่อได้สัญญารับจ้างกำจัดขยะจากเทศบาล คาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาดังกล่าวภายในเดือนก.ค.58
ขณะที่ บริษัทแจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้นำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติให้บริษัท ลงทุนในโครงการแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยโครงการแรกในพื้นที่จังหวัดหนึ่งของภาคเหนือขนาดไม่เกิน 10 MW มูลค่าลงทุนประมาณ 1,468 ล้านบาท โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ในรูปแบบโฮลดิ้ง ร่วมกับบริษัท ซีโรเวซท์ จำกัด (ZW) และบริษัท ลาวี เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (LAWI) โดยจะมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 1 ก.ค.นี้
ทั้งนี้ ภายใต้โฮลดิ้งดังกล่าว จะประกอบด้วยบริษัทจำกัด 2 บริษัท ได้แก่ บริษัทที่ประกอบธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการขยะชุมชน และผลิตเชื้อเพลิงพลังงานจากขยะ (RDF) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน 1 และบริษัทร่วมทุน 2 จะเป็นบริษัทที่มีหน้าที่ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานขยะ และจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดย บริษัทจะถือหุ้นในแต่ละแห่งสัดส่วน 65% ส่วนบริษัท ซีโรเวซท์ จำกัด (ZW) ถือหุ้น 17.50% และ บริษัท ลาวี เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด LAWI จะถือหุ้น 17.50%
โดยบริษัทร่วมทุน 1 จะเข้าทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงพลังงานจากขยะ และบริษัทร่วมทุน 2 จะเข้าทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานจากขยะ ขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ทันที ภายหลังจากที่บริษัทร่วมทุน 1 ได้รับสัญญารับจ้างกำจัดขยะจากเทศบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดของภาคเหนือ และ บริษัทได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้เข้าทำรายการดังกล่าว
โดยหลังจากบริษัทร่วมทุน 1 เข้าทำสัญญาเพื่อรับจ้างกำจัดขยะจากเทศบาลแล้ว จะดำเนินการว่าจ้าง ZW เพื่อก่อสร้างโรงงานประกอบกิจการดังกล่าว ในรูปแบบจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ เพื่อสร้างโรงงาน มีมูลค่าลงทุนราว 352,548,335 บาท คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 2 ปี และบริษัทร่วมทุน 2 จะว่าจ้าง LAWI เพื่อสร้างโรงไฟฟ้า มีมูลค่าลงทุนประมาณ 1,116,138,400 บาท ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างราว 2 ปี
อนึ่ง มีกระแสข่าวว่า โครงการดังกล่าวของบริษัทนั้น บริษัทจะผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองในโรงงานประมาณ 1MW และที่เหลือขายให้แก่การไฟฟ้า โดยคาดว่าจะรับรู้กำไรต่อปีราว 250 ล้านบาท ยังไม่รับรายได้จากค่าบำบัด และจัดเก็บขยะจากชุมชนอีกไม่ต่ำกว่าปีละ 50 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ 2 คาดว่าจะได้ราวเดือนกรกฎาคมหากนับแค่ 2 โครงการนี้ จะทำให้บริษัทมีกำไรปีละ 600 ล้านบาท