พาราสาวะถีอรชุน

ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย เพราะการดึงจังหวะยื้อเวลากว่าจะมีมติก็ทำให้เห็นเจตนาของผู้วินิจฉัยแล้ว จากกรณีป.ป.ช.ยกคำร้อง ไม่เอาผิด จารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าฯสตง. กรณีทำผิดต่อหน้าที่จากการอนุมัติให้ไปดูงานที่ยุโรปผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีกฎหมายใดจะเอาผิดทางวินัยได้ ขณะที่ปมการถอดถอนก็ไม่สามารถทำได้เช่นกันเพราะเกษียณไปแล้ว


ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย เพราะการดึงจังหวะยื้อเวลากว่าจะมีมติก็ทำให้เห็นเจตนาของผู้วินิจฉัยแล้ว จากกรณีป.ป.ช.ยกคำร้อง ไม่เอาผิด จารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าฯสตง. กรณีทำผิดต่อหน้าที่จากการอนุมัติให้ไปดูงานที่ยุโรปผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีกฎหมายใดจะเอาผิดทางวินัยได้ ขณะที่ปมการถอดถอนก็ไม่สามารถทำได้เช่นกันเพราะเกษียณไปแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนั้นเลยมีการนำเอาไปเทียบเคียงกับกรณีของ มนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศที่ถูกป.ป.ช. ชี้มูลความผิดร่วมกระทำผิดในการส่งออกข้าวไปต่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่ง วิชา มหาคุณ ไปแถลงเปิดคดีย้ำว่า ต้องดำเนินการเอาผิดแม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้วเพื่อไม่ให้มีโอกาสไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

นี่คือ มาตรฐาน ของป.ป.ช.ที่มีต่อกรณีข้าราชการเกษียณอายุราชการ หากใช้บรรทัดฐานเดียวกัน ถามว่าคุณหญิงเป็ดซึ่งไปลงสมัครเป็นส.ว.มาแล้ว สมควรที่จะถูกเล่นงานตามมุมมองที่ป.ป.ช.มีต่อมนัสหรือไม่ แล้วเช่นนี้จะทำให้องค์กรเป็นที่เชื่อถือของคนส่วนใหญ่ได้อย่างไร ไม่ต้องบอกว่ามีแค่แนวร่วมระบอบทักษิณและคนเสื้อแดงเท่านั้นที่ไม่เอาป.ป.ช.

ล่าสุด เอกชัย ไชยนุวัต นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยก็แสดงข้อกังขาต่อปมดังกล่าว โดยระบุว่า ป.ป.ช.ใช้พ.ร.บ.ป.ป.ช.ปี 2542 เอาผิด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยุบสภาไปแล้วและศาลรัฐธรรมนูญก็ให้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วซ้ำอีก แต่กฎหมายฉบับเดียวกันป.ป.ช.กลับบอกว่า เอาผิดคุณหญิงเป็ดไม่ได้ เพราะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว “ผมงงมาก”

ขนาดนักวิชาการด้านกฎหมายยังออกอาการงงเป็นไก่ตาแตก จะไม่ให้ชาวบ้านร้านรวงเขาสงสัยกันได้อย่างไร เช่นนี้แล้ว วิษณุ เครืองาม คงไม่ต้องคิดหนักว่าจะเสนอให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่ออายุให้กับกรรมการป.ป.ช.ที่จะหมดวาระหรือไม่ เรื่องภาพลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญ เว้นเสียแต่ว่าจะมีวาระอย่างอื่นที่ต้องการใช้งานกันอยู่ นั่นก็อีกเรื่อง

พูดได้น่าฟังทีเดียวแต่ในทางปฏิบัติจะผลักดันอย่างเต็มที่หรือไม่ จากที่วันวาน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไปปาฐกถาพิเศษที่วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ยืนยันตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำประชามติ ด้วยเหตุผลคือ รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นฉบับประชาชน รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นฉบับที่ผ่านประชามติ

ดังนั้น เมื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 จะมีเหตุผลใดที่จะไม่นำรัฐธรรมนูญกลับไปหาประชาชนอีก แต่การจะให้มีการออกเสียงประชามติได้ ต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวโดยความเห็นชอบร่วมกันของคสช. คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่พอฟังเสียงของบิ๊กตู่ล่าสุด แนวโน้มอาจจะไม่มีการฟังความเห็นของประชาชน

เพราะท่านผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อ้างว่า หากทำประชามติจะเสียเงิน 3,000 ล้าน ที่ไม่รู้เหมือนกันจะคุ้มหรือไม่ สิ่งสำคัญคือ อย่าให้ใครมาชี้นำประชาชนทุกคนก็แล้วกัน ยังก้าวไม่พ้นข้อกังวลเรื่องประชาชนจะถูกจูงจมูกตามนิสัยของบรรดาคนดีทั้งหลาย ก็ไหนบอกว่าจะยกระดับให้เป็นพลเมืองที่ยิ่งใหญ่ แล้วทำไมไม่อยากฟังเสียงของพลเมือง (ที่ไม่ใช่แค่คนบางพวก) เล่า

สงสัยต้องให้ฤาษีเกวาลันหรือไม่ก็พวกที่ก่อม็อบกวักมือเรียกรัฐประหารแล้วหนีไปบวช ช่วยชี้แนะชี้นำ พร้อมให้กำลังใจ ถ้าเช่นนั้นภาษาพระเขาก็บอกว่า “หนทางวิบัติ” รออยู่ข้างหน้า เพราะเท่ากับเสียงคนส่วนใหญ่ไร้ความหมาย พลเมืองทั่วไปก็เป็นได้แค่พลเมืองชั้นสอง ต้องฟังสิ่งที่ โคทม อารียา เสนอมาล่าสุด ต้องให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดใจตนเองโดยให้เลือกว่าเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งฉบับหรือไม่

ดูเหมือนว่าอาจารย์โคทม จะมองไปไกลไม่ต่างจากที่คนส่วนใหญ่เห็นคือ ตอนรับฟังความเห็นต้องทำให้ประชาชนทุกฝ่ายมีสิทธิอย่างเท่าเทียม นี่ย่อมสะท้อนภาพให้เห็นว่าตลอดระยะเวลานับตั้งแต่การรัฐประหารมาจนถึงวันนี้ ยังมีการเลือกที่รักมักที่ชัง สยบความเห็นต่างด้วยกฎหมายพิเศษและการขู่ใช้กำลัง แต่หาใช่หยุดความแตกแยกลงไม่

ท่าทีของคนห่มผ้าเหลืองที่ยกมือหนุนให้บิ๊กตู่อยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก 3-5 ปี โดยอ้างเรื่องของสถานการณ์ ไม่รู้ว่าท่านผู้มีอำนาจจะเห็นดีเห็นงามตามนั้นหรือไม่ แต่เงื่อนไขเวลามันดันบังเอิญตรงกับการทำนายทายทักของท่านฤาษีก่อนหน้านั้น จึงช่วยไม่ได้หากจะมีคนคิดไปไกลว่านี่เป็นการโยนหินถามทาง เพื่อสร้างความชอบธรรมในการอยู่ต่อหรือเปล่า

หลังจาก พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาปัดข้อเสนอของสองพรรคการเมืองใหญ่ให้ผ่อนปรนข้อกฎหมายเปิดให้มีการประชุมพรรคเพื่อหารือและเสนอความเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ ด้วยข้ออ้าง เกรงว่าจะไม่คุยกันแต่เฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ เหมือนจะบอกให้สังคมรับรู้ นักการเมืองเป็นพวกต้นทุนต่ำ ไร้เครดิต ความน่าเชื่อถือใดๆ

ล่าสุด บิ๊กตู่ก็ขู่ฟ่อๆ เรื่องกิจกรรมทางการเมือง โดยยกปมของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่เดินทางไปพบปะชาวนาที่อยุธยา นักการเมืองไม่มีหน้าที่ลงพื้นที่พบประชาชน ขอสั่งห้ามการเคลื่อนไหวการเมืองแบบดังกล่าว หากอยากทำให้ติดต่อขอผ่านทางคสช. พร้อมย้อนไปถึงบิ๊กจิ๋วด้วยว่า เคยทำงานกับรัฐบาลเก่าไม่ใช่รัฐบาลตน ขอให้สื่อมวลชนไปถามพลเอกชวลิตเองว่าควรทำอะไร

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องรัฐบาลเก่าเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อดิสเครดิตเท่านั้น เพราะมันมีอะไรที่มากไปกว่านั้น อันเป็นเหตุผลทำให้ผู้มีอำนาจหวั่นไหวต่อการขับเคลื่อนของอดีตขงเบ้งแห่งกองทัพ การขยับของบิ๊กจิ๋วแม้วันนี้วัยจะล่วงเลยไปถึง 84 ปีแล้ว แต่ด้วยความที่เป็นทหารแก่ไม่มีวันตาย เป็นพวกขิงแก่ยิ่งแก่ยิ่งเผ็ด ส่วนจะตามล้างตามเช็ดกันแบบไหนอย่างไรนั้น ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด

Back to top button