ซึมยาว ไปกันใหญ่ขี่พายุ ทะลุฟ้า

เงินเฟ้อติดลบเป็นเดือนที่ 4 ส่งออกก็ติดลบเป็นเดือนที่ 4 เหมือนกัน แล้วเอาอะไรมาพูดว่า เศรษฐกิจไตรมาส 1 ปีนี้ ยังสามารถเติบโตเป็นบวกได้


เงินเฟ้อติดลบเป็นเดือนที่ 4 ส่งออกก็ติดลบเป็นเดือนที่ 4 เหมือนกัน แล้วเอาอะไรมาพูดว่า เศรษฐกิจไตรมาส 1 ปีนี้ ยังสามารถเติบโตเป็นบวกได้

ครับ คนพูดก็ใช่ใคร .ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลงานเศรษฐกิจ โดยอ้างข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ ว่าไตรมาสแรกของปีนี้ จีดีพีจะขยายตัวได้ 3%

ซึ่งวันที่ 18 พ.ค.นี้ สภาพัฒน์ฯ นัดแถลงตัวเลขเศรษฐกิจ เดี๋ยวก็รู้ว่า เศรษฐกิจจะแหกกรอบความซบเซา มาสร้างความมหัศจรรย์ได้อย่างไร

หม่อมอุ๋ยรอความหวังปาฏิหาริย์ แต่น้ำเสียงภาคเอกชน อย่างนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม กลับมองต่างออกไป นายสุพันธุ์มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะเปราะบางมาก

รัฐบาลต้องช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี และดูแลราคาข้าว ช่วยชาวนา

ไม่เพียงแต่ความห่วงใยของผู้นำสภาอุตสาหกรรมหรอก ผู้นำการค้า ผู้นำภาคธนาคาร ล้วนแล้วแต่มองภาพเศรษฐกิจในทางซบเซา จะต้องเร่งหาทางตระเตรียมแก้ไขด้วยกันทั้งสิ้น

คงจะมีแต่แม่ทัพเศรษฐกิจรัฐบาลอย่างหม่อมอุ๋ยเพียงคนเดียวล่ะกระมัง ที่ยังมองโลกสดใสอยู่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ในยุคสมัยรัฐบาลเลือกตั้ง หม่อมอุ๋ยกลับเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายตัวฉกาจ

 นโยบายประชานิยม เป็นตัวนำพาชาติล่มจม หม่อมอุ๋ยแสดงความรังเกียจเดียดฉันท์อย่างกับอะไรดี พอมาเป็นรัฐบาลเอง ก็หั่นทิ้งจนเหี้ยน ไม่เหลือซากตอใดๆ เลย

ไม่มีทั้งโครงการจำนำ โครงการประกันใดๆ ทั้งสิ้น ผลลัพธ์ก็อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ ไม่ว่าราคาข้าว ราคายาง ราคาปาล์ม ฯลฯ ตกรูดระนาว หาทางฟื้นไม่มี

ราคาข้าวเปลือก กลับไปเกวียนละ 6,000 บาทอีกแล้ว ทีมงานเศรษฐกิจของหม่อมอุ๋ย ก็ไม่เห็นจะเสนอการแก้ไขแต่อย่างใด

ทางฟากฝั่งกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งดำเนินการโดยทหารอย่างพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะเสียอีก ยังมองหาหนทางแก้ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ

ซึ่งขณะนี้ ได้ตัดสินใจจะเข้าแทรกแซงราคาผลปาล์มที่ก.ก.ละ 4 บาทแล้ว

แม้เกษตรกรจะเรียกร้องราคา 5 บาท แต่ผมก็คิดว่า ยังไงราคา 4 บาทที่ชาวสวนปาล์มจะได้รับ ก็ยังดีกว่าราคา 2.70-2.80 บาทที่ได้รับเวลานี้

เพราะนั่นคือนโยบายทอดทิ้งเกษตรกรโดยแท้จริง

ภายใต้โครงสร้างเกษตรกรรมเวลานี้ ที่ผู้ผลิตก็ยังเป็นผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบมากที่สุด ผมว่ายังไง รัฐบาลก็ต้องมีนโยบายแทรกแซงราคาอยู่บ้าง จะปล่อยให้ ”กลไกตลาด” เป็นตัวกำหนดสถานเดียว คงเป็นไปไม่ได้หรอก

แนวทางหม่อมอุ๋ย ก็คือ แนวทางตัดหางปล่อยวัดเกษตรกรเราดีๆ นี่เอง

ผมว่านะ การที่เศรษฐกิจทรุดโทรมมาถึงทุกวันนี้ ก็มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ การที่รัฐบาลมีความล่าช้ามากในการตัดสินใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

ซึ่งหากตัดสินใจเสียตั้งแต่แรกทำการยึดอำนาจแล้ว ป่านนี้ก็คงจะมีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบจากภาครัฐมาตั้งแต่ปลายปี 57 แล้ว ถึงตอนนี้จึงค่อนข้างจะสายเกินการไปมาก

ปัจจัยที่ 2 คือ การปล่อยปละละเลยให้ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ และดูแคลนประชานิยม ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรมากเกินไป

ต้องอย่าลืมสิว่า มูลค่าราคาสินค้าเกษตร แม้ไม่ถึง 10% ของมูลค่าสินค้าและบริการรวมก็จริง แต่ผูกพันกับคนเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรไทย หรือในราว 30 ล้านคน

การปล่อยปละละเลยให้คนส่วนนี้มีกำลังซื้อต่ำตลอดมา จึงเลี่ยงไม่พ้นจะต้องเจอภาวะเศรษฐกิจซึมเซา หาทางออกได้ยากเช่นเวลานี้

                                               

Back to top button