พาราสาวะถีอรชุน
ยังคงมีเสียงเรียกร้องอย่างต่อเนื่องว่าด้วยเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 36 มหาปราชญ์ ล่าสุด ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้อธิบายถึงความจำเป็นในการทำประชามติว่า เป็นวิธีการเดียวที่จะทำให้รัฐธรรมนูญมีความเชื่อมโยงกับประชาชนได้ แม้ว่าจะมีวิธีการอื่นที่อาจทำให้การร่างรัฐธรรมนูญเชื่อมโยงกับประชาชนมากกว่านี้
ยังคงมีเสียงเรียกร้องอย่างต่อเนื่องว่าด้วยเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 36 มหาปราชญ์ ล่าสุด ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้อธิบายถึงความจำเป็นในการทำประชามติว่า เป็นวิธีการเดียวที่จะทำให้รัฐธรรมนูญมีความเชื่อมโยงกับประชาชนได้ แม้ว่าจะมีวิธีการอื่นที่อาจทำให้การร่างรัฐธรรมนูญเชื่อมโยงกับประชาชนมากกว่านี้
วิธีการนั้นเช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 ได้เกิดขึ้นมาและดำเนินการเกือบเสร็จสิ้นแล้ว การเสนอให้มีการลงประชามติจึงเป็นการแสดงออกที่ประนีประนอมและสันติที่สุด เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเชื่อมโยงกับประชาชน ด้วยการให้ประชาชนได้พิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ต่อไป
คำถามต่อมาที่ว่า แล้วเหตุใดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องยึดโยงกับประชาชน เหตุใดจึงให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งน่าจะมีความรู้และชำนาญเรื่องกฎหมายมากกว่าประชาชนทั่วไปเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเองไม่ได้ คำตอบต่อคำถามดังกล่าวอยู่ในสถานะของตัวรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดที่จะกำหนดการปฏิบัติของคนทุกคนในสังคม
ดังนั้น การประกาศกฎหมายสูงสุดจึงควรมาจากการเห็นพ้องของประชาชน และเมื่อสังคมเห็นพ้องกันอยู่ในทีแล้วว่า ต้องการให้ประเทศเดินตามหลักการประชาธิปไตย องค์กรที่ใช้อำนาจแต่ละหน่วยจึงควรมีความเชื่อมโยงกับประชาชนผู้ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจเหล่านั้น ความเห็นตรงนี้ของปองขวัญสอดรับกับแถลงการณ์ล่าสุดของสมัชชาคนจน
โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาสมัชชาคนจนได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ด้วยเหตุผลรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ประชาชนในประเทศนี้ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเสมอภาค ประชาชนทุกคนจึงต้องมีสิทธิมีส่วนในการจัดทำรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดอนาคตของตนเองร่วมกัน ดังจะเห็นได้จากการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง จนได้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ที่เกิดจากการยึดอำนาจปกครองของคมช. ก็ยังเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยการจัดทำประชามติ สมัชชาคนจนจึงไม่อาจปล่อยให้คนเพียงไม่กี่คนมากำหนดอนาคตของพวกเราได้
เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงเห็นว่าคสช.ต้องทำประชามติ ในส่วนเรื่องรายละเอียดและวิธีการจัดทำประชามตินั้น ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน พร้อมกันนี้ได้มีการเรียกร้องให้ประชาชนร่วมลงชื่อเพื่อนำเสนอต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ดำเนินการจัดทำประชามติ โดยใช้วิธีการเสนอชื่อและข้อเรียกร้องผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่
ทั้งนี้ สมัชชาคนจนย้ำว่า การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนชาวไทย ก่อนที่จะลงท้ายของแถลงการณ์ว่า ประชาชนต้องกำหนดอนาคตของตนเอง ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน เชื่อได้เลยว่า การขับเคลื่อนในลักษณะเช่นนี้หนีไม่พ้นจะถูกจับตามองจากฝ่ายความมั่นคง
อย่างไรก็ตาม นอกจากข้อเรียกร้องว่าด้วยการทำประชามติที่ภาคประชาชนเสนอให้ล่ารายชื่อชงผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแล้ว วันนี้กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านเองก็ออกมาเคลื่อนไหวยื่นข้อเรียกร้องไปยังผู้มีอำนาจ เพื่อให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 82 (3) มาตรา 284 (5) และมาตรา 285 เนื่องจากทั้ง 3 มาตรา จะทำให้ไม่มีข้าราชการส่วนภูมิภาคและข้าราชการฝ่ายปกครอง ซึ่งรวมถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
การเรียกร้องครั้งนี้ไม่ได้แค่ยื่นหนังสือผ่านเลขาฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้วจบกันเท่านั้น เพราะมีคำขู่ตามมาว่า ทางสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านฯ จะรอในขั้นแปรญัตติว่าจะมีการแก้ไขในมาตราดังกล่าวหรือไม่ หากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ดำเนินการ กำนันผู้ใหญ่บ้านกว่า 2 แสนคน จะเคลื่อนไหวชุมนุมเพื่อเรียกร้องและคัดค้านในเรื่องนี้ต่อรัฐบาลอย่างสุดกำลัง
เรียกได้ว่าแตะตรงไหนของรัฐธรรมนูญฉบับคนดีก็มีแต่ปัญหา ส่วนปมที่อ้างกันว่างบประมาณ 3 พันล้านบาทสำหรับการทำประชามติจะสูญเปล่านั้น อาจารย์ปองขวัญก็ได้ช่วยอธิบายไว้ว่า งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ไม่ใช่แค่ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์บัตร ตั้งคูหาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแจกให้กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง รวมถึงการเปิดเวทีการสร้างความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญกับประชาชน
อันเป็นวิธีการเพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลครบถ้วนก่อนการตัดสินใจลงประชามติ ซึ่งถ้ามองเรื่องค่าใช้จ่ายเพียงอย่างเดียวแล้ว ค่าใช้จ่ายนี้จึงเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการเรียนรู้ ให้ประชาชนรับรู้ว่ารัฐธรรมนูญมีหน้าตาอย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อตัวเองอย่างไร หากประชาชนพบว่าตัวรัฐธรรมนูญมีปัญหาและต้องการแก้ไขหรือแม้กระทั่งร่างใหม่ในภายหลัง จะนำมาสู่ต้นทุนในการแก้และต้นทุนค่าเสียโอกาสอื่นๆ ที่อาจมีมูลค่าสูงกว่า 3,000 ล้านบาทเสียด้วยซ้ำ
ความจริงประเด็นนี้ไม่น่าจะเป็นปมต้องหยิบยกมาให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ เพราะความจริงหากย้อนกลับไปดูงบประมาณเรื่องที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวของสมาชิกสปช.และสนช. ที่ตั้งลูกเมียและเครือญาติมาทำหน้าที่ก่อนหน้านั้น มีคำถามง่ายๆ ว่า อย่างไหนที่เป็นการละเลงงบประมาณของประเทศชาติและไม่ก่อคุณูปการมากกว่ากัน
ช่วงวันที่ 19-20 พฤษภาคมนี้ฝ่ายความมั่นคงกระดิกไปไหนไม่ได้ต้องคอยมอนิเตอร์ฟังการพูดของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ประเทศเกาหลีใต้ ในการประชุมผู้นำเอเชียประจำปี 2015 ซึ่งหนังสือพิมพ์โชซันอิลโบ สื่อใหญ่ของเกาหลีใต้ร่วมกับคณะกรรมการเตรียมการรวมชาติจัดขึ้น พร้อมเชิญอดีตผู้นำไทยไปพูด บังเอิญตรงกับวันเดียวกันที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเดินทางไปขึ้นศาลฎีกานักการเมืองในคดีจำนำข้าวเสียด้วย ต้องลุ้นกันว่าจะมีอะไรทำให้ผู้มีอำนาจไม่แฮปปี้หรือเปล่า