ความเชื่อมั่นของตลาดพลวัต2015
โลกของการเก็งกำไร เป็นโลกสีเทาที่มีข้อเท็จจริงและมายาปนเปอยู่ในที่เดียวกันจนนักลงทุนจำนวนไม่น้อยยากจะแยกออก ผลลัพธ์คือ คนที่ถอดรหัสแยกแยะข้อเท็จและข้อจริงออกจากมายาได้ คนนั้นจะเป็นผู้กุมความได้เปรียบในตลาดดังกล่าว
โลกของการเก็งกำไร เป็นโลกสีเทาที่มีข้อเท็จจริงและมายาปนเปอยู่ในที่เดียวกันจนนักลงทุนจำนวนไม่น้อยยากจะแยกออก ผลลัพธ์คือ คนที่ถอดรหัสแยกแยะข้อเท็จและข้อจริงออกจากมายาได้ คนนั้นจะเป็นผู้กุมความได้เปรียบในตลาดดังกล่าว
ความผันผวนของตลาดหุ้นในช่วงนี้ สะท้อนความสำคัญของความเชื่อมั่นได้ดีว่า นักลงทุนมีความหวาดวิตกและกังวลต่ออนาคตมากเพียงใด โดยเฉพาะในยามที่ตลาดมีแนวโน้มขีดจำกัดของขาขึ้น แต่ก็ไม่ยากจะปรับตัวเป็นขาลงเต็มที่ เกิดปรากฏการณ์อีหลักอีเหลื่อให้เห็น ดัชนีตลาดและราคาหุ้นแกว่งไกวไปมายิ่งกว่าสนต้องลม ถึงขั้นที่นักวิเคราะห์ฉลาดแหลมคมที่สุดยังต้อง “แทงกั๊ก” ไม่กล้าฟันธงในระยะยาว
ขนาด บลจ. ซึ่งมีผู้จัดการกองทุนที่ได้ชื่อว่าอ่านรหัสของตลาดค่อนข้างเก่งกว่าคนกลุ่มอื่นๆ เวลาออกกองทุนทริกเกอร์มาหากำไรจากตลาด ยังมีลักษณะการเลือกกลยุทธ์แบบ “ตีหัวเข้าบ้าน” ด้วยการออกกองระยะสั้นที่มีผลตอบแทนต่ำระดับ 3-6% ภายในเวลา 3-6 เดือน เพื่อจะได้รีบเร่งปิดกอง ไม่มองไกลไปถึงขั้นทำกำไรมาก ถือคติ กำไรน้อย กำไรบ่อย ดีกว่าขาดทุนหรือติดหุ้นยาว หวังแค่น้ำบ่อหน้า ไม่คิดจะสุ่มเสี่ยง
ปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนอารมณ์และทัศนคติของนักลงทุน ว่ามีความเชื่อมั่นต่ออนาคตของการลงทุนและตลาดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ ความผันผวนของตลาดหุ้นหรือตลาดเก็งกำไรอื่นที่เชื่อมโยงเข้ากันกับกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นสาเหตุสำคัญของความเชื่อมั่นที่ต่ำลงอย่างไม่ต้องสงสัย
ตัวอย่างความผันผวนของราคาทองคำ ราคาน้ำมัน และค่าเงินบาท ซึ่งล้วนส่งผลต่อเนื่องมายังราคาหุ้นและดัชนีตลาดหุ้นอย่างเลี่ยงไม่พ้น เป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจน ไม่ต้องบรรยายให้มาก
โดยเฉพาะตลาดปริวรรตเงินตรา (ที่เรียกว่าตลาดออฟชอร์) เป็นตลาดว่าด้วยความเชื่อมั่นโดยเฉพาะ เมื่อใดความเชื่อมั่นในประเทศนั้นสูง ค่าเงินท้องถิ่นจะแข็งค่า (เทียบกับเงินสกุลหลัก) ในทางตรงกันข้าม เมื่อความเชื่อมั่นในประเทศต่ำลง ค่าเงินก็จะอ่อนยวบ
ยามนี้ หลังจาก กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเมื่อสองสัปดาห์ก่อน รวมทั้งแบงก์ชาติอนุญาตให้ขยายวงเงินออกมากขึ้น เปิดทางให้ค่าเงินบาทอ่อนลงโดยเจตนา ทำให้ค่าบาทเทียบกับดอลลาร์ อ่อนยวบลงจากระดับ 32.40 บาท วิ่งขึ้นไปเมื่อวานนี้ที่ระดับ 33.70 บาท สะท้อนความเชื่อมั่นในค่าบาทของนักลงทุนต่างชาติที่ต่ำลง หันไปถือเงินสกุลอื่นๆ แรงเทขายตราสารหนี้ และหุ้นในตลาดไทยออกมาแรงกันทั่วหน้า แต่ก็เริ่มชะลอตัวลงบ่ายวานนี้ ทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าอีกครั้งที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ จากการที่ต่างชาติเพิ่มแรงขายดอลลาร์ออกมาเพื่อซื้อบาท ซึ่งภาษาของนักเก็งกำไรบอกว่า เพราะตลาดซึมซับข่าวร้ายไปหมดแล้ว
ความเชื่อมั่นที่แปรปรวนนี้ ปัจจุบันมีความสำคัญอย่างมาก การสำรวจความเชื่อมั่นจึงกลายเป็นศาสตร์ที่มีความหมายเพื่อศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะพฤติกรรมทางการลงทุนหรือบริโภค
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ กลายเป็นประเด็นให้ตลาดหุ้นหรือหุ้นกู้เคลื่อนไหวทางบวกหรือลบได้ทุกครั้งที่ประกาศดัชนีออกมา มีความเชื่อมโยงกับดัชนีทางเศรษฐกิจอื่นๆ
ในภาคธุรกิจ ความเชื่อมั่นของผู้บริหารและเจ้าของกิจการ ที่เรียกกันว่าความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ ก็มีการสำรวจมากขึ้นเกือบทุกประเทศ เพื่อชี้แนวโน้มของเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น ล่าสุด ธนาคารกรุงไทยได้รายงานผลการสำรวจความเชื่อมั่นของนักธุรกิจไทยในช่วงไตรมาสแรก พบว่าปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.53 หลังเศรษฐกิจไตรมาสแรกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด แม้ภาครัฐได้เร่งดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การบริโภคภาคเอกชนถูกบั่นทอน และการส่งออกที่หดตัว
สิ่งที่ติดตามมาคือ ความเชื่อมั่นดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่นำมาประเมินโดยฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ ให้ทำการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลง จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 เหลือร้อยละ 3.0-3.5
ในตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว มีการสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนแต่ละกลุ่มชัดเจน พร้อมกับรายงานออกมา ในสหรัฐเรียกว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Investors’ Confidence Index) เพื่อเอามาศึกษาหาโมเมนตัมของตลาด โดยเทียบเคียงกับดัชนีอื่นๆ เช่น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ แล้วเอามาสร้างโมเดลการลงทุนหลายๆ แบบเพื่อให้ลูกค้าทราบว่า หากดัชนีเป็นขาขึ้น ควรวางตำแหน่งอย่างไร เป็นขาลง ควรวางตำแหน่งลงทุนอย่างไร และกรณีไซด์เวย์ควรทำตัวอย่างไร
ในตลาดหุ้นกู้ชั้นพิเศษของนิวยอร์กมีการอ้างอิงถึง Barron’s Confidence Index อย่างจริงจังเพื่อหาแนวโน้มทิศทางของการลงทุนในตลาดดังกล่าว เพื่อหาว่าอารมณ์ของตลาดกำลังไปทางทิศไหน
เคยมีการสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทเรตติ้งชื่อดัง S&P ซึ่งพบว่าความเชื่อมั่นของคนทั่วไปต่อเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งความแตกต่างนี้ เป็นประเด็นที่มีคนอ้างเสมอว่า เมื่อใดที่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมแย่ลง แต่บางครั้งตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นรุนแรง (ยกตัวอย่าง ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ยามนี้ ที่วิ่งสวนทางกับเศรษฐกิจจีน) และเหตุใดในยามเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ดัชนีตลาดหุ้นหลายแห่งจึงมีความผันผวน หรือถึงขั้นปรับฐานแรง โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ความขัดแย้งระหว่างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นในการลงทุนเช่นนี้ ทำให้การวัดความเชื่อมั่นต้องการความละเอียดรอบคอบมากกว่าปกติ เพราะว่าจะต้องจำแนกรายละเอียดของพฤติกรรมที่ต่างกัน ตามสูตร “พระเจ้า (ซาตาน) อยู่ในรายละเอียด”
พร้อมกันนั้น ยังมีคนเอามาตั้งเป็นจุดล้อเลียนว่าเหตุใดนักเศรษฐศาสตร์ที่เถรตรง จึงเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นหรือตลาดเก็งกำไรที่ล้มเหลว และบางครั้งข้อสรุปง่ายๆ ว่า ตลาดหุ้นวิ่งแรงช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ เป็นเพราะเกิดฟองสบู่ในตลาดขึ้นมาแล้ว ซึ่งตื้นเขินและผิดข้อเท็จจริงอย่างมาก
การบริหารความเชื่อมั่นของคนกลุ่มต่างๆ ที่โยงใยเข้ากับปัจจัยจริงผสมปัจจัยทางด้านจิตวิทยา จึงมีรายละเอียดมากมาย และไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งควบคุมไม่ได้เลย