KKP คาดสินเชื่อรวมปีนี้ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ เผยจะรักษา NPL ปีนี้ที่ระดับ 6%
KKP คาดสินเชื่อรวมปีนี้ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 6% หลัง Q1/58 ติดลบจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ตั้งเป้ารักษา NPL ปีนี้ที่ระดับ 6% จาก Q1/58 อยู่ที่เกือบ 7%
นายอภินันท์ เกลียวปฏินันท์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP เปิดเผยว่า การเติบโตของสินเชื่อในปี 58 คาดว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เติบโตที่ 6% โดยในไตรมาส 1/58 ที่ผ่านมาสินเชื่อรวมของธนาคารนั้นติดลบ 2% ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่มีการฟื้นตัวขึ้นจนถึงปัจจุบัน
ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งพอร์ตสินเชื่อของธนาคารส่วนใหญ่ในสัดส่วน 60% เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังมีการชะลอตัวทำให้การเติบโตของสินเชื่อออกมาติดลบ และคาดว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อรวมในปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ขณะที่รายได้ที่ไม่ไช่ดอกเบี้ย (Non-interest income) ของธนาคารในปี 58 คาดว่าใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการที่การทำธุรกรรมทางการเงินทั่วไปไม่มีการเติบโตมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมของการทำธุรกรรมทางการเงินทั่วไปยังไม่มีการเติบโตมากนัก แต่ธนาคารจะมีการเติบโตของในส่วนของรายได้จากธุรกิจวาณิชย์ธนกิจ (Investment Banking) ที่เข้ามาค่อนข้างมาก เนื่องจากการเติบโตขึ้นของตลาดทุนไทย
ประกอบกับจำนวนพอร์ตและปริมาณการซื้อขบยหล่กทรัพย์ของลูกค้าที่เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบล.ภัทร ได้มีการเพิ่มขึ้นมาก จากปัจจัยต่างประเทศในการดำเนินนำนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ทำให้มีเงินไหลเข้ามาในตลาดทุนเป็นจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ธนาคารมีรายได้จากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์เติบโตขึ้น
สำหรับสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารในปีนี้จะพยายามรักษาให้ได้ในระดับที่ 6% ซึ่งในไตรมาส 1/58 NPL ของธนาคารได้มีการปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่เกือบ 7% เป็นผลมาจากลูกค้าพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ส่วนใหญ่มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดี ทำให้ระดับ NPL มีการปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามในการรักษาระดับ NPL ให้อยู่ไนระดับ 6% ตามเป้าหมายนั้น ธนาคารได้มีการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น และมีการติดตามหนี่อยู่ตลอดเวลา ประกอบกับการประเมินเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะมีการฟื้นตัวมากขึ้นกว่าครึ่งปีแรก ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเพิ่มขึ้น
ด้านทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปีนั้น ยังต้องมีการติดตามดูตัวเลขเศรษฐกิจว่าจะออกมาเป็นอย่างไร หากการฟื้นตัวยังช้าอยู่ จะทำให้มีโอกาสสูงที่ดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลงต่อไปได้ จากปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับ 1.50%