ดอกเบี้ย…ไม่ใช่ปัญหาลูบคมตลาดทุน
เซอร์ไพรส์พอสมควรกับการเป็นผู้นำประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารกสิกรไทย เมื่อวานนี้
ธนะชัย ณ นคร
เซอร์ไพรส์พอสมควรกับการเป็นผู้นำประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารกสิกรไทย เมื่อวานนี้
ก่อนหน้านี้ก็คิดไปว่า ไม่น่าจะมีธนาคารแห่งไหนปรับดอกเบี้ยลงมา หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ปรับลดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดอีก 0.25%เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา
ปกติแล้วธนาคารไทยพาณิชย์จะเป็นผู้นำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครับ
ทว่ารอบนี้กลับไม่ใช่
ผู้บริหารของไทยพาณิชย์เองก็บอกแล้วว่า จะไม่เป็นผู้นำในการปรับลดแน่นอน
ส่วนท่าทีของธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ ก็ยังนิ่งๆ
และนั่นทำให้คาดกันว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจนำธนาคารที่เป็นของรัฐ เช่น แบงก์ออมสิน ธอส. หรืออาจรวมถึงแบงก์กรุงไทย เป็นธนาคารนำร่องเพื่อลดดอกเบี้ยลงมา
แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีก
ก่อนหน้านี้นายแบงก์หลายคนมองว่า ดอกเบี้ยนโยบายที่ กนง.ปรับลงมานั้น น่าจะเล็งไปยังค่าเงินบาทมากกว่าเพราะต้องการกระตุ้นการส่งออก
และนั่นจะให้ค่าเงินบาทอ่อนลง และก็ได้ผลจริงๆ เพราะล่าสุดค่าบาทลงมาแถวๆ 33.50-33.70 บาท/ดอลลาร์แล้ว
ต่อไปก็ต้องมาจับตาดูว่า ธนาคารพาณิชย์แห่งไหนจะปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงตามมา
ล่าสุด แบงก์ไทยพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมา 0.10-0.30% มีผลวันนี้
เป็นที่น่าสังเกตว่า ดอกเบี้ยที่แบงก์กสิกรไทยและไทยพาณิชย์ปรับลงรอบนี้ ไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงตามมาด้วย ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากแคบลง
ผลที่ตามมาคือราคาหุ้น KBANK วานนี้ปรับลงอย่างหนัก
เพราะถูกมองว่า จะกดดันให้กำไรสุทธิปีนี้ออกมาน้อยกว่าที่คาดการณ์กันไว้
“เสี่ยปั้น” หรือคุณบัณฑูร ล่ำซำ ไม่ได้ให้เหตุผลว่าเพราะอะไร บอกแต่เพียงว่า ธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นมีต้นทุนเงินฝากที่ค่อนข้างมาก
ส่วนของ SCB หรือไทยพาณิชย์แจ้งปรับในช่วงเย็น หลังตลาดหุ้นปิดทำการแล้ว
แม้ว่าดอกเบี้ยจะปรับลงมาแล้ว
และก็มีแนวโน้มที่ธนาคารแห่งอื่นๆ จะทยอยปรับลดลงตามมาก็ตาม
ทว่าประเด็นของปัญหาไม่ได้อยู่ที่ดอกเบี้ยลงเท่านั้น
แต่จะอยู่ที่ว่า เมื่อมีผู้ประกอบการมาขอสินเชื่อ แล้วนายแบงก์จะปล่อยกู้ให้หรือไม่ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังลุ่มๆ ดอนๆ แบบนี้
ผมเคยคุยกับเต็นท์ขายรถยนต์
เขาเล่าให้ฟังว่า นอกจากรถยนต์มือสองจะขายไม่ค่อยดีแล้ว ลูกค้าที่มาซื้อรถยนต์กลับถูกปฏิเสธการให้เงินกู้มากขึ้น
หรือสรุปง่ายๆ ว่ากู้เงินไม่ผ่าน
เช่นเดียวกับสินเชื่อบ้าน ที่พบว่า ถูกปฏิเสธการปล่อยเงินกู้มากขึ้นเช่นกัน เพราะแบงก์จะพิจารณาอย่างเข้มงวดมากขึ้น
ยกเว้นแต่ว่าเป็นรูปแบบการกู้ร่วม ก็อาจจะง่ายขึ้นในการขอสินเชื่อ
นายแบงก์เองนั้น ก็ต้องการตั้งการ์ดให้แน่น โดยเฉพาะบรรดาผู้จัดการสาขาของธนาคาร เพราะหากปล่อยแบบไม่ดูให้ละเอียดถี่ถ้วน (มากขึ้น) แล้วเกิดเป็นเอ็นพีแอลขึ้นมา
อาจถูกหมายหัวจากผู้บริหารได้ว่า บริหารความเสี่ยงกันอย่างไร
จะเห็นว่า แม้ดอกเบี้ยจะปรับลดลง มีนัยสำคัญเพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่หากการปล่อยสินเชื่อยังคงเข้มงวดและตั้งการ์ดกันแน่นแบบนี้ การลดดอกเบี้ยเงินกู้ก็อาจไม่ได้มีผลอะไรมากนัก เพราะปัญหาอยู่ที่ “ความเชื่อมั่น”
ทั้งจากนายแบงก์ และผู้ประกอบการเอง