เมื่อไหร่จะพ้นสุข ทายท้าวิชามาร

ตัวเลขเศรษฐกิจไทย 2-3 วันนี้มี “ข่าวร้าย” ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการต่อทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมครึ่งปีหลัง ครึ่งหนึ่งเห็นว่าทรงตัว อีกครึ่งหนึ่งเห็นว่าดีขึ้นกับแย่ลงพอๆ กัน ตัวเลขส่งออก 4 เดือนแรกติดลบเกือบ 4% แต่กระทรวงพาณิชย์ยังเชื่อทั้งปีจะเป็นบวก สุดท้าย ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯหลุดจาก 1,500 จุด


ตัวเลขเศรษฐกิจไทย 2-3 วันนี้มี “ข่าวร้าย” ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการต่อทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมครึ่งปีหลัง ครึ่งหนึ่งเห็นว่าทรงตัว อีกครึ่งหนึ่งเห็นว่าดีขึ้นกับแย่ลงพอๆ กัน ตัวเลขส่งออก 4 เดือนแรกติดลบเกือบ 4% แต่กระทรวงพาณิชย์ยังเชื่อทั้งปีจะเป็นบวก สุดท้าย ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯหลุดจาก 1,500 จุด

ถามว่าอะไรๆ จะเลวร้ายไปหมดไหม ก็ไม่ขนาดนั้น เศรษฐกิจโลกน่าจะเริ่มฟื้นตัว เศรษฐกิจไทยรัฐบาลก็กำลังแก้ไข ใครอย่าประมาทว่ารัฐบาลทหารไม่มีฝีมือ เพราะระดมคนดีคนเก่งไปช่วยมากมาย

ส่งออก บาทแข็ง ภัยแล้ง หนี้เสีย หุ้นตก ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ มีแข็งก็มีอ่อน มีลงก็มีขึ้น รัฐบาลแก้ไขได้ เรื่องใหญ่กว่าคือการเมืองนี่สิ ประเทศไทยจะพ้นจาก “ความสงบสุข” กลับไปสู่เลือกตั้งได้เมื่อไร

เอ๊ะพูดยังไงเมื่อไหร่จะพ้นสุข อ้าว ก็ตราบใดที่คนไทยยังมีความสุขบนสถานการณ์ “ชั่วคราว” โดยยังไม่รู้ว่าภาวะเช่นนี้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ จะจบแบบไหน จบสวยไม่สวย คาดการณ์ไม่ได้ ยังไม่รู้รัฐธรรมนูญจะผ่านไหม จะต้องทำประชามติไหม แล้วจะวุ่นวายเพียงไร ฯลฯ

ความไม่แน่นอนนี้ทำให้ทั้งเทศทั้งไทยไม่กล้าลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าไม่มีการลงทุนภาคเอกชน ต่อให้รัฐบาลเก่งแค่ไหนก็ปลุกเศรษฐกิจฟื้นได้ยาก ยิ่งความไม่แน่นอนนี้ลากยาว ก็ยิ่งกดดัน ฉะนั้นที่พูดกันว่า “เศรษฐกิจจะดีขึ้นๆๆๆ” จึงต้องมีวงเล็บ (ถ้าการเมืองมีคำตอบชัดเจน)

ถ้าคิดง่ายๆ วันนี้ฝ่ายต่างๆ ส่งความเห็นให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ถ้าปรับแก้ให้ สปช.ส่วนใหญ่ยอมรับ รัฐธรรมนูญก็น่าจะผ่านไปสู่การลงประชามติ ซึ่งในภาวะเช่นนี้ ประชามติก็น่าจะฉลุย ยังไงๆ ปีหน้าก็เลือกตั้ง เพียงแต่ยื้อไป 5-6 เดือน

แต่ถ้าคิดให้ถี่ถ้วน กระบวนการเปลี่ยนผ่านคงไม่ง่ายปานนั้น ทั้งการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งความพร้อมของสังคม และความพร้อมของผู้กุมอำนาจ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างคู่ขัดแย้งมากเหลือเกิน ยังมองไม่ออกว่าจะประนีประนอมอย่างไร ถ้า สปช.คว่ำก็ต้องร่างใหม่ ถ้าทำประชามติ จะทำอย่างไรภายใต้มาตรา 44 เพราะประชามติต้องรณรงค์ เคลื่อนไหว ฝ่าย “ไม่รับ” ต้องมีเสรีภาพโต้แย้งรัฐธรรมนูญได้

ในแง่ความพร้อมของสังคม รัฐประหารครั้งนี้ไม่เหมือนปี 2550 ที่ผ่านไปช่วงหนึ่งคนส่วนใหญ่อยากกลับสู่เลือกตั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ คนชั้นกลางในเมืองจำนวนมากเกลียดนักการเมือง เบื่อการเลือกตั้ง ปกป้องรัฐบาล คสช. กระทั่งนักศึกษาประท้วงยังถูก “ล่าแม่มด” ความขัดแย้งไม่ได้ลดนะครับ แต่มากขึ้นด้วยซ้ำ ระหว่างคนรัก คสช.กับคนอยากกลับสู่ประชาธิปไตย

เรื่องใหญ่คือความพร้อมของผู้มีอำนาจ อ๊ะอ๊ะ ไม่ได้บอกว่า คสช.อยากอยู่นาน ท่านอยากกลับบ้านเต็มที แต่ก็มีข้อแม้ รัฐประหารต้อง “ไม่เสียของ” เหมือนอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดเมื่อวันจันทร์ ท่านอุตส่าห์เสี่ยงอันตรายมาแก้ไขปัญหาประเทศ จะให้รัฐบาลเลือกตั้งมาทำลายได้ไง ทำอย่างไรรัฐบาลเลือกตั้งจะสานต่อสิ่งที่ท่านทำไว้ จะไม่มารื้อการปฏิรูปของท่าน แล้วไป “ปฏิรูปกองทัพ” แทน

นั่นละเรื่องสำคัญ ถ้า คสช.เห็นว่ายังไม่มีหลักประกัน ว่าการ “ปฏิรูป” จะเดินไปตามอุดมคติของกองทัพ รัฐประหารก็ยังลงจากหลังเสือไม่ได้ ซึ่งก็เป็น dilemma ท่านเชื่อว่าไหนๆ หยุดซ่อมประเทศแล้วก็ต้องทำให้ดี ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจจะรอไม่ได้จะบีบคั้นขึ้นทุกขณะ

                                                                                                        ใบตองแห้ง

Back to top button