ทริสฯ คงเครดิตองค์กร ML ที่ “BBB-“ยกเลิก”เครดิตพินิจ”แนวโน้ม”Developing”
ทริสฯ คงเครดิตองค์กร ML ที่ "BBB-"ยกเลิก"เครดิตพินิจ"แนวโน้ม"Developing"
ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไมด้า ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ML ที่ระดับ “BBB-” พร้อมทั้งยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน” และกำหนดแนวโน้มอันดับเครดิตให้เป็น “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน”แทน
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานภาพการเป็นบริษัทร่วมของ บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านภายใต้ตราสัญลักษณ์ที่หลากหลายและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงประวัติการดำเนินธุรกิจที่ยาวนานในการให้บริการสินเชื่อรถยนต์และความสามารถอันสม่ำเสมอของบริษัทในการสร้างผลกำไร รวมถึงการมีสาขาที่กระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาคทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับพันธมิตรทางธุรกิจด้วย อย่างไรก็ตาม ความได้เปรียบจากจุดแข็งเหล่านี้ถูกลดทอนโดยปัจจัยกดดัน 3 ประการ ได้แก่ การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจให้บริการสินเชื่อรถยนต์ ความยืดหยุ่นทางการเงินที่จำกัดของบริษัท และส่วนแบ่งทางการตลาดในแง่ของสินเชื่อคงค้างที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน” สะท้อนผลกระทบที่ยังไม่ชัดเจนต่อทิศทางธุรกิจของบริษัทและความช่วยเหลือจากผู้ถือหุ้นใหญ่หลังจากที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท อนุมัติการขายสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดในบริษัทเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2558 โดยกระบวนการในการขายสัดส่วนการลงทุนดังกล่าวน่าจะใช้เวลานานกว่าที่
ทริสเรทติ้งเคยคาดไว้ แนวโน้มอันดับเครดิต “Developing” หรือ “ไม่ชัดเจน” เป็นผลจากประกาศของบริษัท ไมด้า แอสเซ็ท ที่ระบุจะขายสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดในบริษัท ซึ่งส่งผลให้บริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านธุรกิจอันเนื่องมาจากผลกระทบที่ยังไม่ชัดเจนต่อทิศทางธุรกิจและความช่วยเหลือจากผู้ถือหุ้นใหญ่ อันดับเครดิตอาจได้รับการยืนยันอีกครั้งหากบริษัทสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดและดำรงผลการดำเนินงานทางการเงินด้วยการมีโครงสร้างฐานทุนที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม สถานะความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ของผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่จะมีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วย ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจถูกปรับลงหากมีปัจจัยที่จะทำให้คุณภาพสินทรัพย์และสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลง
ML ก่อตั้งในปี 2543 ด้วยทุนจดทะเบียน 90 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วอยู่ที่ 484 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท ได้ประกาศขายสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดในบริษัท หรือคิดเป็น 46.98% ของทุนจดทะเบียนและชำระแล้ว โดยกำหนดเงื่อนไขว่าราคาขายจะต้องไม่ต่ำกว่า 2.20 บาทต่อหุ้น ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ระหว่างเดือนธันวาคม 2557 จนถึงเดือนมกราคม 2558 บริษัทไมด้า แอสเซ็ท ได้ลดสัดส่วนการลงทุนในบริษัทลงจาก 60% เป็น 46.98% โดยทยอยขายหุ้นของบริษัทที่บริษัท ไมด้า แอสเซ็ทถืออยู่รวม 13.02% ทั้งนี้ บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท ต้องการขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทเพื่อจัดหาเงินทุนสำหรับมุ่งเน้นการประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท ไมด้า แอสเซ็ท
นับตั้งแต่การก่อตั้ง บริษัทเน้นให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้วเป็นหลัก ปัจจุบันตลาดหลักของบริษัทคือสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้วที่ผ่านการใช้งานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป โดยมูลค่าสินเชื่อคงค้างของบริษัทค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 2,500 ล้านบาทมาตั้งแต่ปี 2548 ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2557 บริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างเท่ากับ 2,503 ล้านบาท ประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 99% และสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเต็นท์รถยนต์มือสอง (หรือสินเชื่อ Floor Plan) อีก 1% โดยล่าสุดบริษัทมีสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 2,511 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทแกว่งตัวขึ้นลงจาก 3% ในปี 2553 ขึ้นไปเป็น 3.8% ในปี 2554 แล้วลดลงเหลือ 2.3% ในปี 2555 และเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.6% ในปี 2556 จากผลของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปี 2556 ทำให้คุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อของบริษัทลดต่ำลงเมื่อเทียบกับปี 2555 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2557 โดยเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 4.3% ณ สิ้นเดือนมีนาคม และ 4.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน การตัดหนี้สูญในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ช่วยลดอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมให้ลดลงมาอยู่ที่ 3.2% ณ สิ้นปี 2557 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นมาอีกที่ระดับ 4.4% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 ปัจจุบันบริษัทได้ให้ความสำคัญมากขึ้นกับการติดตามหนี้สิน รวมถึงการปรับปรุงนโยบายการให้สินเชื่อและเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อให้มีความเข้มงวดมากขึ้นเพื่อปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อ โดยทริสเรทติ้งจะคอยติดตามผลจากความพยายามดังกล่าวต่อไป
ในปี 2554 และปี 2555 รัฐบาลออกมาตรการคืนภาษีแก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกซึ่งกลายเป็นปัจจัยกดดันผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการให้เช่าซื้อรถยนต์ซึ่งรวมถึงบริษัทด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวส่งผลทำให้ราคารถยนต์มือสองในตลาดตกต่ำเป็นอย่างมากเพราะผู้บริโภคหันไปซื้อรถยนต์คันแรกแทนเพื่อใช้สิทธิในการขอคืนภาษี ในปี 2556 ผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทลดต่ำลง โดยบริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 112 ล้านบาท ลดลง 16% จาก 134 ล้านบาทในปี 2555 ในปี 2557 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงลดลงจากกำไรสุทธิที่ลดลงเป็น 87 ล้านบาท หรือลดลง 22% จากปี 2556 การลดลงของกำไรสุทธิส่วนหนึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานซึ่งรวมผลขาดทุนจากสินทรัพย์รอการขายที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 14% โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 250 ล้านบาทในปี 2557 จาก 219 ล้านบาทในปี 2556 ซึ่งผลขาดทุนจากการขายสินทรัพย์รอการขายที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการที่ราคารถมือสองปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญถึง 52 ล้านบาทในปี 2557 ซึ่งสูงมากกว่ามูลค่าการตั้งสำรองฯ ในปี 2556 ที่ระดับ 37 ล้านบาทถึงเกือบ 2 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ต่อเงินให้สินเชื่อเช่าซื้อรวมในปี 2557 ลดลงเป็น 2.3% จาก 2.6% ในปี 2556 และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยลดลงเหลือ 3.3% ในปี 2557 จาก 4.2% ในปี 2556 อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 24 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสแรกของปี 2557
นับตั้งแต่ปี 2553 ฐานทุนของบริษัทค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยอัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 54.6% ณ สิ้นปี 2557 จาก 38.6% ณ สิ้นปี 2553 ซึ่งเป็นผลมาจากการทำกำไรอย่างต่อเนื่องของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา จึงถือได้ว่าบริษัทมีฐานทุนที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่อาจจะไม่เพียงพอต่อการขยายสินเชื่อในอนาคตหากบริษัทไม่ใช้เงินกู้เพิ่มเติม การขยายฐานสินเชื่ออย่างมีนัยสำคัญจะเป็นความท้าทายที่สำคัญของบริษัท โดยในขณะนี้บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อีกทั้งยังไม่มีแหล่งเงินทุนที่แน่นอนเหมือนคู่แข่งรายอื่น
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังหวังว่าบริษัทจะสามารถดำรงฐานทุนที่ค่อนข้างแข็งแกร่งเอาไว้ได้ ซึ่งฐานทุนที่แข็งแกร่งจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการชำระหนี้ที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบของสภาวะเศรษฐกิจที่สูงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ หากบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ก็อาจทำให้บริษัทต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างเงินทุนอย่างมีนัยสำคัญได้