กสทช.จี้ “ไทยทีวี” จ่ายค่าไลเซ่นส์ดิจิตอลทีวี 2 ช่องให้ครบแม้ปิดสถานี
กสทช.จี้ "ไทยทีวี" จ่ายค่าไลเซ่นส์ดิจิตอลทีวี 2 ช่องให้ครบแม้ปิดสถานี
นายฐากร ฒัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช.มีมติให้บริษัท ไทยทีวี จำกัด ดำเนินการชำระเงินค่าประมูลที่ยังค้างอยู่ทั้งหมด แม้ว่าจะมีการอนุมัติให้มีการยกเลิกไม่ให้ประกอบกิจการแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ.2556 ในข้อ 10 ได้ระบุไว้ว่าเมื่อการประมูลสิ้นสุดลง ให้ผู้ชนะการประมูลชำระค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามราคาสุดท้ายที่ผู้ชนะการประมูลแต่ละรายเสนอตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ทั้งนี้ หมวดข่าวสารและสาระ (ช่อง 17) ประมูลมา 1,328 ล้านบาท ชำระแล้วในงวดที่ 1 จำนวน 220.8 ล้านบาท และต้องชำระในงวดที่ 2 จำนวน 176.8 ล้านบาท งวดที่ 3 จำนวน 243.6 ล้านบาท งวดที่ 4 จำนวน 243.6 ล้านบาท งวดที่ 5 จำนวน 221.6 ล้านบาท และงวดที่ 6 จำนวน 221.6 ล้านบาท ซึ่งรวมเป็นเงินที่ยังค้างชำระทั้งสิ้น 1,107.2 ล้านบาท
ส่วนหมวดรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว (ช่อง 15) ประมูลมาด้วยราคา 648 ล้านบาท ชำระแล้วในงวดที่ 1 จำนวน 120.8 ล้านบาท ยังต้องชำระในงวดที่ 2 จำนวน 92.8 ล้านบาท งวดที่ 3 จำนวน 115.6 ล้านบาท งวดที่ 4 จำนวน 115.6 ล้านบาท งวดที่ 5 จำนวน 101.6 ล้านบาท และงวดที่ 6 จำนวน 101.6 ล้านบาท ซึ่งรวมเป็นเงินที่ค้างชำระทั้งสิ้น 527.2 ล้านบาท
นอกจากนี้ ตามประกาศของ กสทช.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ในข้อ 18 ระบุว่าการสิ้นสุดการอนุญาต นอกจากครบกำหนดระยะเวลาตามใบอนุญาตแล้ว ใบอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์อาจสิ้นผล ในกรณีดังต่อไปนี้ 1.ผู้รับใบอนุญาตแจ้งยกเลิกการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต และได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก่อนเลิกกิจการแล้ว
ฉะนั้น เมื่อบริษัท ไทยทีวี จำกัด ได้ยื่นหนังสือขอยกเลิกประกอบกิจการ หรือคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล จะส่งผลต่อเมื่อคณะกรรมการ กสท.มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการประกอบกิจการได้ โดยผู้รับใบอนุญาตต้องกลับไปทำแผน ตามข้อ 21 ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ในการจัดให้มีมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้ใช้บริการภายหลังการสิ้นสุดการอนุญาตให้ประกอบกิจการ และให้รวมถึงกรณีที่มีการพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หลังจากนั้นจะมีการรวบรวมเสนอต่อบอร์ด กสท.ต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 14.00 น.ของวันนี้ ตัวแทนฝ่ายกฎหมาย บริษัท ไทยทีวี จำกัด ได้เข้าพบ กสทช.โดยนายสุชาติ ชมกุล ฝ่ายกฎหมาย บริษัท ไทยทีวี จำกัด เปิดเผยก่อนจะมีการหารือว่า จะมีการรับฟังคำชี้แจงข้อกฎหมายเพื่อนนำไปพิจารณาว่าจะดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่อีกครั้งหนึ่ง โดยยืนยันว่าไทยทีวี ยังไม่มีแนวทางชัดเจนว่าจะยุติการดำเนินกิจการหริอเดินหน้าต่อไป ซึ่งจะมีการแถลงข่าวในเย็นวันนี้