ความหวัง หรือ ความฝันพลวัต2015
เมื่อวานนี้ ตลาดหุ้นไทยปิดตลาดบวกไป 8.83 จุด มูลค่าซื้อขายเบาบาง 3.6 หมื่นล้านบาท มีคำอธิบายว่าเกิดจากปัจจัยหลัก เช่น 1) หุ้นแบงก์ราคาลงลึกเกินไป 2) ราคาหุ้นพลังงานอย่างกลุ่มปตท. เข้าเขตขายมากเกินไป 3) รัฐมนตรีคลังบอกว่าดอกเบี้ยไม่ควรจะลงต่ออีกแล้ว (ทั้งที่รู้กันว่า รมว.คลัง สั่งธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ และไม่มีหน้าที่) 4) เก็บหุ้นไว้รอขึ้นปลายเดือนเพราะคาดว่าจะมีการทำวินโดว์ เดรสซิ่งของกองทุน
เมื่อวานนี้ ตลาดหุ้นไทยปิดตลาดบวกไป 8.83 จุด มูลค่าซื้อขายเบาบาง 3.6 หมื่นล้านบาท มีคำอธิบายว่าเกิดจากปัจจัยหลัก เช่น 1) หุ้นแบงก์ราคาลงลึกเกินไป 2) ราคาหุ้นพลังงานอย่างกลุ่มปตท. เข้าเขตขายมากเกินไป 3) รัฐมนตรีคลังบอกว่าดอกเบี้ยไม่ควรจะลงต่ออีกแล้ว (ทั้งที่รู้กันว่า รมว.คลัง สั่งธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ และไม่มีหน้าที่) 4) เก็บหุ้นไว้รอขึ้นปลายเดือนเพราะคาดว่าจะมีการทำวินโดว์ เดรสซิ่งของกองทุน
คำอธิบายดังกล่าว ละเลยข้อเท็จจริงว่า 1) วอลุ่มซื้อขายต่ำเกินไป ยากจะดันดัชนีและราคาหุ้นไปได้ไกลในยามที่ผลประกอบการทั่วไปยังย่ำแย่ 3) โบรกเกอร์สำคัญหลายแห่งทำการปรับลดกำไรเฉลี่ยของตลาดต่ำลง ทำให้ค่าพี/อีตลาดพุ่งขึ้น ยังแพงเกินที่จะจูงใจให้เข้าซื้อ 4) ยังไม่มีสัญญาณว่ากองทุนเก็งกำไรจะกลับเข้ามาในไทย เพราะภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวลง 5) วิกฤตการเงินของกรีซที่ยังไม่มีแนวโน้มตกลงกันได้
หนึ่งในคำอธิบายที่ชวนให้ตั้งคำถามมากที่สุด คือ เรื่องของวินโดวส์ เดรสซิ่ง เพราะมีลักษณะของการ “ยังไม่เห็นน้ำ รีบตัดกระบอก” ชัดเจน เนื่องจากหลายไตรมาสมาแล้วที่การทำวินโดว์ เดรสซิ่งไม่ได้เกิดขึ้น ทั้งที่มีพูดกันถึงโดยตลอด
ทุกเทศกาลปิดท้ายแต่ละไตรมาสในตลาดหุ้น จะเกิดช่วงเวลาของการคาดเดาที่แพร่ระบาดว่า ให้ซื้อหุ้นเพื่อรอการทำวินโดว์ เดรสซิ่ง จะทำให้ราคาปิดหุ้นจำนวนมากในตลาดโดยเฉพาะบลูชิพดูดีกว่าปกติเสมอ แม้หลายครั้งหรือส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ในตลาดหุ้นไทย ความเชื่อว่าการทำวินโดว์ เดรสซิ่ง ในช่วงไตรมาสแรกและสองจะมีการทำน้อยมาก แต่จะทำกันประจำในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี กลายเป็น ”ปรากฏการณ์ธันวาคม” (December Effect) ความเชื่อดังกล่าว ไม่มีใครพิสูจน์ แต่ปล่อยให้เข้าใจกันเอาเอง
ดังที่ทราบกันดี คำๆ นี้ แรกเริ่มมาจากศัพท์ที่ใช้กันในงานแต่งหน้าร้านของร้านค้าปลีก หรือร้านขายสินค้าแฟชั่นทั้งหลาย ที่พยายามตกแต่งหน้าร้านให้สวยหรูชวนฝัน เพื่อหลอกล่อลูกค้าให้เดินเข้าไป ต่อมาถูกนำมาใช้เปรียบเทียบโดยนักการเงิน สาระก็ยังคงหมายความถึงการตกแต่งรูปลักษณ์ภายนอกให้ดูดีเกินจริงชั่วคราว
ในวงการบัญชี ความหมายของวินโดว์ เดรสซิ่ง คือ การแต่งบัญชี ซึ่งมีความหมายทางลบ โดยถือเป็นกลยุทธ์ที่เรียกว่า “ลับลวงพราง” (Trojan Horse Tactic) โดยการเคลื่อนย้ายตัวเลขทางบัญชีในงบการเงินทุกอย่างเพื่อให้ดูดีเกินจริง ทำให้ดูเหมือนว่าบริษัทดูดี หรือการแต่งบัญชีนั่นเอง
วินโดวส์ เดรสซิ่งในทางบัญชี สะท้อนถึงกิจการที่กระทำ มีแนวโน้มเกิดหรือซ่อนเร้นปัญหาทางการเงิน และความสามารถของผู้บริหารหย่อนยาน กิจการใดที่ถูกตรวจสอบพบว่า มีการทำวินโดว์ เดรสซิ่งทางบัญชี จะถูกถือว่า เป็นกิจการที่ต้องระมัดระวังการฉ้อฉลและสุ่มเสี่ยงหายนะทางการเงินในภายหน้า
ในวงการหุ้น คำว่า วินโดว์ เดรสซิ่ง มีความหมายไม่เลวร้ายเท่ากับวงการบัญชี เพราะคนที่ชอบใช้และจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์นี้ จะเป็นพวกผู้จัดการกองทุนทั้งหลายที่ลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อทำให้การบันทึกมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของหน่วยลงทุน หรือ NAV เมื่อวันสิ้นงวดแต่ละไตรมาสดูดี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือกองทุนนั้นๆ เพราะมันเกี่ยวข้องกับโอกาสในการไถ่ถอน
ผลงานที่วัดกันได้จากวันสิ้นงวดไตรมาสของกองทุนแต่ละชนิด ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องสร้างวินโดว์ เดรสซิ่งขึ้นมา ดังนั้น สิ่งที่จะต้องแต่งหน้าตาของมูลค่าสินทรัพย์ให้ดูดี จึงเกิดขึ้นในวันสิ้นไตรมาสเป็นสำคัญ
วิธีการแต่งหน้าตา คือการปรับพอร์ตการลงทุนที่มีทั้งขายและซื้อพร้อมกัน ผลลัพธ์ท้ายที่สุดคือการที่ทำให้มูลค่าของหน่วยลงทุนหรือสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วย สวยงามมากขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเปรียบเทียบกับผลงานในไตรมาสก่อนหน้า หรือระยะเดียวกันปีก่อน
ที่ต้องทำก็เพราะว่า มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของหน่วยลงทุนของกองทุนแต่ละแห่งนั้น เขาวัดกันที่ราคาตลาดของหุ้น (mark to the market) เป็นสำคัญ
การปรับพอร์ต ด้วยกลยุทธ์ ”ปรับเปลี่ยน” (หรือ switching strategy) คือ การเร่งขายหุ้นที่มีผลประกอบการไม่ดี หรือซื้อมาแล้วขาดทุนออกไป แล้วซื้อหุ้นที่มีผลประกอบการดีหรือมีอนาคตสดใสเข้ามาแทนที่ หรือกำลังจะประกาศผลประกอบการที่ดีเป็นพิเศษในช่วงใกล้สิ้นไตรมาส
การปรับพอร์ตถือหุ้นมีอนาคตสดใสขึ้น ละทิ้งหุ้นที่มีอนาคตย่ำแย่ออกไปจากมือ ไม่ใช่เรื่องประหลาด และไม่ควรจะถือเป็นเรื่องของการฉ้อฉล แต่มายาคติของนักลงทุนที่ไม่เข้าใจในกลยุทธ์ ทำให้เข้าใจกันผิดๆ ต่อเนื่อง ซึ่งถูกขยายความต่อมาการสื่อสารเทียมที่เรียกว่า ”เจ๊กกระซิบ” (Chinese’s whisper) กลายเป็นความเชื่อว่า วินโดว์ เดรสซิ่ง คือการดันราคาหุ้น หรือการเข้าซื้อทางเดียวของกองทุน เพื่อให้หุ้นราคาวิ่งแล้วตัวเลขกองทุนดูดีกว่าปกติ
ความไม่เข้าใจเช่นนี้ ทำให้คนพลอยพากันเชื่อต่อๆ มาว่า เมื่อวันสิ้นงวดไตรมาสทุกครั้ง ดัชนีตลาดหรือหุ้นบลูชิพทั้งหลายในตลาดจะต้องถูกดันราคาหุ้นสูงขึ้น
หากว่าข้อเท็จจริงตรงกันข้ามกับความเชื่อ คนที่เข้าใจผิดทั้งหลายก็จะพาลเข้าใจอีกว่า ไตรมาสนั้นไม่มีการทำวินโดว์ เดรสซิ่ง ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้ว การทำวินโดว์ เดรสซิ่งได้กระทำตลอดเวลา
นักลงทุนที่ชาญฉลาด ก็คงจะต้องดูด้วยว่า ทิศทางการลงทุนในพอร์ตลงทุนของบรรดาผู้จัดการกองทุนนั้น มุ่งไปทางทิศใด เช่น ก่อนจะสิ้นไตรมาส กองทุนมีการซื้อหุ้นเข้าพอร์ตจำนวนมากผิดปกติ ดังนั้น เมื่อถึงเวลาจะทำวินโดว์ เดรสซิ่งตอนปิดไตรมาส ก็น่าจะเป็นการขายออกเพื่อ ”ตัดขาดทุน” ซึ่งเป็นการทุบราคามากกว่า ส่วนในกรณีตรงกันข้าม ก็อาจจะหมายถึงการดันราคาหุ้นจริง
ความเข้าใจในเรื่องวินโดว์ เดรสซิ่งของตลาดหุ้น จะช่วยนักลงทุนให้สามารถแยกแยะความหวัง ออกจากความฝันเลื่อนลอยได้ แต่เรื่องอย่างนี้ แค่บอกหรือสอนกันด้วยวาจาไม่ได้ ต้องอาศัยประสบการณ์ของนักลงทุนประกอบ
ความหวัง และความฝันเลื่อนลอย ก็เลยปะปนกันจนแยกยาก และทำให้ยังมีคนพูดถึง วินโดว์ เดรสซิ่ง ดันราคาหุ้นท้ายไตรมาสไปเรื่อยๆ จริงหรือไม่จริง ไม่มีใครรู้