จะเป็นจะตายกับ 300 บาทหรือ
คุณชายปรีดิยาธร เทวกุล ออกจะหนักข้อเลยเถิด ที่ออกมากล่าวโทษค่าจ้าง 300 บาท เป็นตัวการ ฉุดการส่งออกไทยให้ติดลบ
คุณชายปรีดิยาธร เทวกุล ออกจะหนักข้อเลยเถิด ที่ออกมากล่าวโทษค่าจ้าง 300 บาท เป็นตัวการ ฉุดการส่งออกไทยให้ติดลบ
น่าอนาถ! คนระดับรองนายกรัฐมนตรี
ค่าแรง 300 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 นี่มันมิถุนายน 2558 ผ่านมา 3 ปีกว่าแล้ว พ่อเจ้าประคุณ ผี 300 บาทยังหลอกหลอน ไม่เลิกไม่ราอีกหรือครับเจ้านาย
เล่นอ้างมั่วๆ กันแบบนี้ ทำให้ผมอดนึกถึงรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ไตรมาส 1 ที่ประกาศโดยสภาพัฒน์เสียมิได้
กลายเป็นจีดีพีโต 3% อย่างน่าประหลาดใจ!
ส่งออกซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 67% ของจีดีพี ติดลบมา 5 เดือนต่อเนื่อง การบริโภคและการลงทุน หดตัวหมด การใช้จ่ายภาครัฐ ที่คุยว่าฟื้นตัวน่ะ แท้ที่จริงก็เป็นการจ่ายในงบประจำ ไม่มีรายการจ่ายในงบลงทุนเลย
แต่จีดีพีดันกลายมาเป็นบวกได้ก็เพราะมีการเปลี่ยนเกณฑ์คำนวณใหม่อย่างกะทันหัน
ถ้าเป็นการคิดแบบดั้งเดิมที่ทำเป็นระบบสืบเนื่องกันมา เวลาจะบอกว่าเศรษฐกิจโดยรวมหรือจีดีพีโตเท่านั้นเท่านี้ เขาก็คิดเทียบแบบ ”เยียร์ ออน เยียร์” คือ คิดเทียบในช่วงเดียวกันระหว่างปีนี้กับปีก่อน
แต่นี่มาคิดกันระบบไหนก็ไม่รู้ คำชี้แจงจากผู้บริหารสภาพัฒน์ หรือจากท่านรองฯ ปรีดิยาธร ก็ดูอ้อมแอ้ม ไม่ชัดถ้อยชัดคำอย่างไรชอบกล
ถ้าคิดแบบ ”เยียร์ ทู เดท” ก็ต้องวัดเปรียบเทียบกันระหว่างไตรมาส 1 ปีนี้กับไตรมาส 4 ปีก่อน ซึ่งก็แน่ล่ะ ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เป็นช่วงหลังยุทธการปิดเมือง ฐานจีดีพีย่อมต่ำ เอามาวัดกันแบบ QonQ จีดีพีก็ย่อมขยายตัวแหงแซะ
กระนั้น ก็ยังไม่ใช่ เพราะคำชี้แจงจากท่านรองนายกฯ หม่อมอุ๋ย ท่านบอกว่า เป็นการเปลี่ยนปีฐานใหม่ ซึ่งวัดมาจากเกณฑ์ฐานอะไรก็ไม่รู้
ผมก็เลยสงสัยว่า ไตรมาสต่อไปคือไตรมาส 2 หม่อมอุ๋ยท่านจะกลับมาใช้เกณฑ์ฐานใดในการคำนวณจีดีพี แล้วมาตรฐานเกณฑ์คำนวณจีดีพีประเทศไทย จะยึดถือเกณฑ์อะไร
นานาอารยะประเทศมิสงสัยกันแย่หรือ
มันจะเสียหายจนถึงขั้นจะเป็นจะตายเชียวหรือ หากจีดีพีต้องติดลบ
ผมว่าน่าจะเป็นผลดีกว่าซะด้วยซ้ำ หากพูดความจริง เพื่อจะได้เป็นวาระของคนในชาติในการระดมสมอง ช่วยกันคิดหาทางออกร่วมกัน
เช่นเดียวกันกับเรื่องค่าจ้าง 300 บาท ทำไมคนเป็นถึงระดับรองนายกรัฐมนตรี มองไม่เห็นปัญหาตั้งแต่ตอนสมัยนั้นเลยหรือว่า แรงงานไทยน่ะขาดแคลนอย่างมากแล้ว
200 บาท หรือ 250 บาทสมัยนั้น (ราวปี 2554) น่ะ ไม่มีทางจ้างได้หรอก มีแต่แรงงานญวน ลาว เขมรให้จ้าง ซึ่งก็หาจ้างได้ยากเย็นเต็มทีแล้ว
ในแง่ความเอื้ออาทรต่อชนชั้นแรงงานคนไทยด้วยกัน ผมก็ว่าใจดำมากนะที่ไม่เห็นหัวอกคนระดับล่าง และไม่คิดจะยกระดับให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเลย
ผมเคยถามเพื่อนผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งเอสเอ็มอีหลายคน ที่บ่นกะปอดกะแปดตอนประกาศค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทใหม่ๆ ว่า มันจะทำให้บริษัทคุณขาดทุนไหม
คิดทบทวนตัวเลขให้ดีมันก็ไม่ขาดทุนหรอก ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นโดยทั่วไป ยังไงก็ไม่ถึง 10% ของต้นทุนหรอก
หรืออย่างบริษัทบูรพาทัศน์ เจ้าของข่าวหุ้นธุรกิจ ที่จ้างค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทเนี่ย หมวดเงินเดือนและค่าแรง ปาเข้าไป 30% ก็ยังไม่ขาดทุน
มีแต่ขาดทุนกำไร และถ้าใช้สมองสักหน่อย ก็สามารถจะทำกำไรเพิ่มขึ้นได้ ไม่ว่าจากการปรับราคาสินค้า บริการ ปรับปรุงเครื่องจักร ปรับปรุงคุณภาพ หรือเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนน้อยไปเลย
ผมก็เห็นพวกบ่นเป็นหมีกินผึ้งกับเรื่องค่าแรง 300 บาท และปริญญาตรี 15,000 บาท ไม่มีใครบาดเจ็บล้มตายลงสักคน ข้อเท็จจริงยืนยันได้
และก็อย่าลืมนะว่า การคิดเรื่องค่าแรง 300 บาทกับปริญญาตรีหมื่นห้าน่ะ มันเป็นลอจิคเชื่อมโยงกับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 20%
เพื่อช่วยลดผลกระทบผู้ประกอบการในรายที่ปรับตัวเองไม่ได้จากค่าจ้าง
คนผีทะเลอะไรไม่รู้ ยังปลุกผีค่าจ้าง 300 บาทอยู่ได้