AAV ราคาลงสะท้อนปัญหาการเงินพันธมิตรโอกาสเหมาะซื้อสะสม Upside เกือบ 40%
ราคาหุ้น AAV ลงสะท้อนปัญหาการเงินพันธมิตร Air Asia Berhad (ถือหุ้นไทยแอร์เอชียร่วมกับ AAV ที่ 45% และ 55%) ขณะที่แผนปรับปรุงฐานะการเงิน คาดช่วยให้ Air Asia Berhad ผ่านปัญหาได้ โดยกระทบ AAV จำกัด ราคาหุ้นที่อ่อนตัวน่าซื้อสะสม
บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ (16 มิ.ย.) ว่าราคาหุ้นกลุ่มแอร์เอเชียปรับตัวลงแรงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้ง Air Asia Berhad (พันธมิตรของกลุ่มแอร์เอเชียที่ประเทศมาเลเซีย หรือ AAB) และบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ในฐานะผู้ถือหุ้นร่วมกันในสายการบินไทยแอร์เอเชีย (AAV ถือหุ้น 55% ส่วน AAB ถือหุ้น 45%) เนื่องจากตลาดมีความกังวลต่อฐานะการเงินของ AAB ที่มี Net Gearing สูงถึง 2.47 เท่า (สิ้นสุดไตรมาส 1/58) ภายใต้ภาระหนี้สินที่มีดอกเบี้ยกว่า 13.1 ล้านริงกิต
ขณะที่สภาพคล่องเงินสดมีน้อยเพียง 1.6 ล้านริงกิต ขณะที่บริษัทลูก 2 แห่ง คืออินโดนีเซีย แอร์ เอเชีย หรือ IAA ซึ่งมี AAB ถือหุ้น 49% และ ฟิลิปปินส์ แอร์ เอเชีย หรือ PAA ซึ่งมี AAB ถือหุ้น 40% ต่างประสบปัญหาขาดทุน จึงมีสภาพคล่องทางการเงินน้อย เห็นได้จากที่ กำไรก่อนดอกเบี้ยภาษีค่าเสื่อมราคาและค่าเช่าเครื่องบิน (EBITDAR) ที่ยังติดลบ จึงติดค้างหนี้สินที่มีกับ AAB ทั้ง 2 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน AAB มีแผนเสริมสภาพคล่องให้บริษัทในเครือทั้ง 2 แห่งดังกล่าวด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ การเพิ่มทุนให้พันธมิตรท้องถิ่น และ ออกหุ้นกู้แปลงสภาพ ขณะที่ AAB เองมีแผนระดมทุน นำเครื่องบินที่มีบางส่วนไปขายและเช่ากลับใช้งาน (Sale and Leaseback)
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าปัญหาส่วนใหญ่ของกลุ่มแอร์เอเชียที่เกิดกับบริษัทในเครือ ที่อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทำให้ผลกระทบต่อ AAV มีจำกัด และคาดว่า AAB จะต้องพยายามแก้ไขปัญหาที่
เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็ว เพื่อรักษาสถานะและกลยุทธ์ทางการตลาดระหว่างกลุ่มแอร์เอเชียที่มีอยู่แถบภูมิภาคไว้ ทั้งเครือข่ายเส้นทางบิน รวมถึง Economy of Scale ที่เกิดจากการจัดซื้อเครื่องบินร่วมกันและ การใช้งบการตลาดกับซ่อมบำรุงร่วมกัน ที่ช่วยหนุนให้กลุ่มมีจุดเด่นการแข่งขันด้านต้นทุนดำเนินงานต่ำต่อไปในอนาคต
โดยรวมแล้วจึงยังเชื่อว่า AAB จะลด Net Gearing ลงได้ตามแผน และสามารถสนับสนุน AAV ได้ในระยะยาว ประเด็นดังกล่าวจึงคาดมีผลกระทบจำกัดต่อ AAV ขณะที่คาดว่าปี 2558 ยังเป็นปีที่ดีของ AAV จากแนวโน้มการ Turnaround ที่ชัดเจน ทั้งจากอานิสงส์ผู้โดยสารฟื้นตัวและต้นทุนราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมีนัยฯ โดยรวม จึงยังคงประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ที่ 1.4 พันล้านบาท Turnaround เติบโตจากปีก่อน 688% และเพิ่มอีก 32% ในปีหน้า
เชื่อว่าราคาหุ้นที่อ่อนตัวรับข่าวดังกล่าวในปัจจุบัน จนมี Upside สูง 39% ถือเป็นโอกาสดีให้ทยอย ซื้อ ราคาเป้าหมาย 6.00 บาท ทั้งนี้ ปัจจุบัน AAV ซื้อขายกันที่ PER ปี 2558 ที่ 14.5 เท่า แม้สูงกว่าสายการบินต้นทุนต่ำโลกซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 12.5 เท่าเล็กน้อย แต่กำไร AAV เติบโตสูงถึง 688% เหนือทั่วโลกอย่างมาก (เติบโต 158%)