พาราสาวะถีอรชุน
เรียกได้ว่าดราม่ากันไม่รู้จักจบสำหรับร่างรัฐธรรมนูญที่นำทีมโดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ หลังจากที่วันวาน ศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา พร้อมด้วย สมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา ยื่นจดหมายเปิดผนึก คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญประเด็นเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการตุลาการ หรือ ก.ต. ที่มาจากฝ่ายการเมืองไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และ คัดค้านการอุทธรณ์คำสั่งของก.ต. ที่ลงโทษวินัยผู้พิพากษาให้สามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้
เรียกได้ว่าดราม่ากันไม่รู้จักจบสำหรับร่างรัฐธรรมนูญที่นำทีมโดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ หลังจากที่วันวาน ศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา พร้อมด้วย สมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา ยื่นจดหมายเปิดผนึก คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญประเด็นเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการตุลาการ หรือ ก.ต. ที่มาจากฝ่ายการเมืองไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และ คัดค้านการอุทธรณ์คำสั่งของก.ต. ที่ลงโทษวินัยผู้พิพากษาให้สามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้
พร้อมแนบรายชื่อผู้พิพากษาที่เห็นด้วยจำนวน 1,380 คน ให้กับ ภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม โดยคนที่รับมอบหนังสือก็บอกว่า แนวคิดนี้สอดคล้องกับแนวคิดของกรรมการบริหารศาลยุติธรรม โดยจะพิจารณานำประเด็นสำคัญเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ผู้พิพากษาที่ร่วมลงชื่อคัดค้านมีทุกระดับ ตั้งแต่ระดับรองประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์กลาง อธิบดีศาลแพ่ง อธิบดีศาลอาญา และผู้พิพากษา โดยเห็นว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของ ก.ต.ศาลยุติธรรม พร้อมๆ กับการตั้งคำถามเป็นชุด ไล่ตั้งแต่ความจำเป็นที่ต้องนำบุคคลภายนอกร่วมเป็นก.ต.เพิ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาอะไร และจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่และจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร
ที่ผ่านมาก.ต.ศาลยุติธรรมมีปัญหาอะไร จึงต้องเพิ่มบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นก.ต. พร้อมการตั้งข้อสังเกตว่าการเพิ่มสัดส่วนก.ต.จากบุคคลภายนอก เป็นการดิสเครดิตก.ต.หรือไม่ และเห็นว่าเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของก.ต. ซึ่งอยากทราบว่า กรรมาธิการยกร่างคนใดเป็นผู้ริเริ่มให้มีการเพิ่มก.ต.คนนอก และเหตุใดกรรมาธิการยกร่างคนอื่นจึงไม่ทักท้วง
ถือได้ว่าเป็นกลุ่มคัดค้านที่เสียงดัง โดยมีการชี้ปัญหาต่อว่าการนำบุคคลภายนอกมาเป็นก.ต.แม้แต่คนเดียว ก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง โยกย้าย ลงโทษผู้พิพากษา และเป็นการลดทอนความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ในการพิจารณาคดี และไม่เห็นด้วยกรณีให้อุทธรณ์คำสั่งของก.ต.ที่ลงโทษวินัยผู้พิพากษาต่อศาลฎีกาได้ เพราะที่ผ่านมาก็ไม่พบว่ามีผู้พิพากษาเรียกร้องที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์การลงโทษทางวินัยแต่อย่างใด
ไม่แน่ใจว่า เสียงคัดค้านจุดนี้จะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ไปช่วยเพิ่มน้ำหนักให้สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์ปื๊ดด้วยความชอบธรรมหรือเปล่า คงอย่างที่ วิษณุ เครืองาม เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ อย่าเหาะเกินลงกา ถ้าตามใจแป๊ะตั้งแต่แรกคงไม่ยุ่งเหยิงอย่างนี้ เว้นเสียแต่จะตั้งใจให้มันเป็นปัญหา โดยมีวาระของการอยู่ต่ออันนี้คนที่ต้องรับบทผู้เสียสละยอมกลืนเลือดย่อมหนีไม่พ้นบวรศักดิ์นั่นเอง
ปัญหาของการบริหารงานโดยรัฐบาลคสช.ถ้าไม่นับรวมเรื่องเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่าเป็นไปอย่างที่ อานันท์ ปันยารชุน ผู้ดีรัตนโกสินทร์พูดไว้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รัฐบาลชุดนี้ตั้งใจและพยายามดี แต่หลายมาตรการที่ออกมาทั้งด้านกฎหมายและการเมือง ทำให้คนจำนวนไม่น้อยพูดไม่ได้และเริ่มรู้สึกอึดอัด แม้จะออกตัวว่าไม่ได้พูดเรื่องเสียของหรือไม่ แต่ก็ชี้ชัดว่ารัฐบาลยังไม่พยายามค้นหาสาเหตุของความแตกแยกที่แท้จริง
แต่หัวใจหลังจริงๆ คงอยู่ที่ การที่คนส่วนใหญ่ถูกปิดปาก พูดไม่ได้ ชุมนุมไม่ได้ ได้สร้างความอึดอัดขึ้น ขณะที่ความสงบในประเทศยังคงสงบต่อไปแต่เป็นเพียงความผิวเผิน ถ้าสังคมสงบอยู่อย่างนี้ต่อไปก็คงไม่มีอนาคต ขณะนี้มีความพยายามทำให้คนพูดไม่ออก พูดไม่ได้ ถือเป็นสังคมปิด เมื่อเป็นสังคมปิดความโปร่งใสก็ไม่มี ธรรมาภิบาลก็หายไป การแสดงความรับผิดก็ไม่มีและองค์ประกอบของประชาธิปไตยก็ไม่มี
มุมนี้ของอานันท์คงหมายถึงการเปิดช่องให้เกิดความเคลื่อนไหวของคนทุกกลุ่มเพื่อที่จะได้แสดงการมีส่วนร่วมต่อการปฏิรูปรวมไปถึงการเสนอแนะความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญด้วย แน่นอนว่า ปมเช่นนี้มีหลายคนเคยเรียกร้องมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ผู้มีอำนาจทำหูทวนลม นั่นเป็นเพราะมองว่าถ้าเปิดเวทีให้แล้วจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายต่อต้านมาประจานรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจนั่นเอง
หรืออีกมุมหนึ่งคงเห็นว่า กลุ่มขัดแย้งอีกพวกที่เป็นผู้จุดประกายจนนำมาซึ่งการยึดอำนาจ ยังคงยกมือเชียร์ออกมาหนุนค้ำจุนความชอบธรรมให้กับรัฐบาลคสช.นั่นเอง จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเปิดเวทีใดๆ ในเมื่อเลือกที่จะเดินแนวทางนี้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงของอดีตนายกฯ ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ดีคนดีก็คงไม่มีความหมาย มาถึงนาทีนี้เขาไม่ได้คำนึงถึงเรื่องปัจจัยความเป็นประชาธิปไตยกันแล้ว คิดกันแค่ว่าจะทำอย่างไรให้การอยู่ต่อดูเนียน ไม่ถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจมากกว่า
น่าสนใจตรงประเด็นที่อานันท์บอกว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นทุกวันนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว และยังไม่ได้แก้อย่างแท้จริงซึ่งจะทำให้ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลขาดลงอย่างฉับพลัน ยังไม่รวมถึงการปฏิรูปที่ยังไม่ถึงไหน กรณีการทุจริตน่าแปลกใจอยู่ไม่น้อยที่คนอย่าง ประมนต์ สุธีวงศ์ ที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างจริงจังก่อนหน้า เวลานี้มีตำแหน่งแห่งหนในสปช.จมูกไม่ได้กลิ่นที่ผิดปกติอะไรเลยหรือ
เห็นไปชูธงว่าจะขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชั่นผ่านสปช. จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทางที่ดีลองเข้าไปปรึกษาอานันท์ดูก็ได้ ที่บอกว่าทุกวันนี้ทุจริตยังคงมีอยู่ มีที่ไหน เรียกรับกันเท่าไหร่ ยัง 30 เปอร์เซ็นต์เหมือนเดิมหรือเปล่า อย่าให้เสียชื่อแม่ทัพใหญ่ต่อต้านทุจริต ประเดี๋ยวจะกลายเป็นว่า เคลื่อนไหวเก่งแต่ในช่วงรัฐบาลเครือข่ายระบอบทักษิณเท่านั้น
องค์รัฏฐาธิปัตย์จะว่าไง หลังผลตรวจสอบพบว่า รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีกระทรวงคุณหมอมีความขัดแย้งกันจริงกับ ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวง ในฐานะผู้นำสูงสุดคงต้องตัดสินใจว่าจะเลือกใครไว้ แต่ถ้าลองผู้บริหารสูงสุดระหว่างฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำออกอาการปีนเกลียวกันอย่างนี้ ความสามัคคีในองค์กรก็อย่าหวังว่าจะเกิด นี่ขนาดสังคมคนดี๊ดียังรักกันไม่ได้ แล้วโจทย์ใหญ่ว่าด้วยความปรองดองจะสำเร็จได้อย่างไร