โศกนาฏกรรมกรีซพลวัต2015

ละครกรีกโบราณในอดีตที่ได้รับการยกย่อง มักจะถูกเรียกว่า โศกนาฏกรรม เพราะมักจะจบลงด้วยความเศร้าและความตายของตัวละครหลัก


ละครกรีกโบราณในอดีตที่ได้รับการยกย่อง มักจะถูกเรียกว่า โศกนาฏกรรม เพราะมักจะจบลงด้วยความเศร้าและความตายของตัวละครหลัก

การเจรจาระหว่างเจ้าหนี้ที่เรียกว่า ทรอยก้า กับรัฐบาลกรีซยกสุดท้ายวานนี้ อย่างร้อนรน ส่งสัญญาณที่ทำให้ข่าวดีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ถูกลืมไปอย่างสนิทใจ เพราะท้ายที่สุด การเจรจากลายเป็นความชะงักงัน ที่ทำให้เสียเวลาไปโดยใช่เหตุ

ไม่ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในเช้าวันนี้ จะเป็นเช่นไร แต่เราก็ได้เห็นชัดว่า การเจรจาจะบรรลุผลหรือไม่บรรลุผล โศกนาฏกรรมแบบกรีกโบราณกำลังย้อนกลับมาอีกครั้ง นั่นคือมีเหยื่อที่ต้องรับชะตากรรมเกิดขึ้น

ถ้าหากบรรลุผล เงื่อนไข 3 ข้อหลักที่ชาวกรีกจะต้องรับคือ การขึ้นภาษี และการว่างงาน เพื่อให้ประเทศอยู่รอดภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดยเจ้าหนี้ โดยเฉพาะเงื่อนไข 3 ข้อที่ ”มหาโหดอย่างมาก”

ลดช่องห่างอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 3 อัตรา เป็น 2 อัตรา เพื่อให้ได้เงินรายได้เพิ่ม 1 พันล้านยูโรต่อปี

ลดสวัสดิการโดยยืดอายุทำงานออกไปอีก 7 ปี  เพื่อประหยัดเงินชดเชยก้อนใหญ่

เพิ่มรายได้เข้างบประมาณอีก 1% ของจีดีพีต่อปี โดยปี 2558 เพิ่ม 2.7 พันล้านยูโร หรือ 1.5% และปี 2559 เพิ่ม 5.2 พันล้านยูโร หรือ 3% ของจีดีพี

ในทางกลับกัน หากไม่บรรลุผล กรีซเองก็คงจะต้องถอนตัวออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของเงินสกุลยูโร เพื่อกลับไปใช้เงินสกุลของตนเอง ซึ่งภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจอยู่ในขั้นหายนะยามนี้ ค่าเงินจะต้องร่วงมหาศาล ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ คนยากจนปัจจุบันที่ 40% ของประชากร ที่อยู่ใต้เส้นความยากจนอยู่แล้ว จะต้องเพิ่มจำนวนมากขึ้นมหาศาล อาจจะมากกว่า 60% เสียด้วยซ้ำ

ไม่เพียงเท่านั้น มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าออก หรือ capital control จะถูกนำมาใช้ในระหว่างการออกจากยูโรโซนระยะแรก จะทำให้เศรษฐกิจพังพินาศร้ายแรง

มีคนประเมินว่า หากกรีซไม่สามารถบรรลุข้อตกลง ผลลัพธ์ในทางลบจะรุนแรงมากกว่าการบรรลุข้อตกลง

เรื่องนี้ รัฐบาลกรีซเองก็รู้ และรู้ดีเสียด้วย แต่คำมั่นสัญญาในตอนที่หาเสียงเอาไว้ 6 เดือนก่อน ทำให้รัฐบาลกรีซปัจจุบัน ไม่สามารถถอยหลังในการเจรจาได้มากนัก เนื่องจากเคยกล่าวหาข้อตกลงเดิมเมื่อ 4 ปีก่อนว่าเป็นสัญญาทาส ดังนั้น การยอมจำนนอีกครั้งก็จะเท่ากับการกลืนน้ำลายตนเองไม่ต่างจากรัฐบาลก่อน

เช่นเดียวกัน เจ้าหนี้หรือทรอยก้าเองก็รู้เช่นกัน ดังนั้น ท่าทีแข็งกร้าวของเจ้าหนี้ ในการเจรจานัดสุดท้ายวานนี้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น เสมือนเตี๊ยมกันมาอย่างดี โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกล่า แมร์เคิล ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนเยอรมันที่ชาวกรีกร่วมสมัยเกลียดชังมากที่สุด ก็ยังคงแสดงบทบาทอันแนบเนียนต่อไป โดยเฉพาะการปล่อยให้เจ้าหน้าที่เจรจาดำเนินการยื่น “เงื่อนไขที่ปฏิเสธไม่ได้” อย่างเต็มที่ในการเจรจา

ท่าทีวางเฉยของยูโรโซนนั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ได้ผ่านการประชุมอย่างดีและรอบคอบแล้วว่า การกระเตงกรีซในฐานะสมาชิกยูโรโซนไปอีกยาวนานนั้น อาจจะเป็นหายนะที่รุนแรงในระยะยาว เพราะปัญหาการล่มสลายทางการคลังของกรีซนั้น แก้ไขยากมาก เนื่องจากมีสาเหตุสำคัญ 2 ด้าน คือ 1) การหนีภาษีที่เกิดจากคอร์รัปชั่นทุกระดับ ทำให้รัฐเก็บภาษีไม่เคยเข้าเป้าทุกปี  2) การคอร์รัปชั่นจากธุรกิจนอกระบบที่มีสัดส่วนมากถึง 50% ของจีดีพี

4 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์อย่างดีว่าการยอมให้เงินกู้จำนวนมหาศาลถึง 2.7 แสนล้านยูโร เป็นเพียงการต่อลมหายใจ แต่ไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ เพราะโรคขาดวินัยทางการคลัง และการคอร์รัปชั่นนั้น ทำให้กรีซมีสภาพต่างจากสมาชิกยูโรโซนอื่นๆ หลายเท่า

การที่กรีซจะอยู่ต่อไปในยูโรโซน เพียงเพราะว่ายูโรโซนอาจจะยังสามารถได้รับประโยชน์ ตามที่ผู้นำเยอรมนีในอดีตเคยคิดมาก่อนนั้น ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าอาจจะไม่คุ้มค่าจริง เพราะปัญหาหนี้สินที่ไม่มีทางชำระของกรีซนั้น ลึกเกินกว่าจะเยียวยาได้อีกต่อไป และอาจจะรบกวนกับบรรยากาศการลงทุนของสหภาพยุโรป ทั้งในตลาดหุ้น ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และตลาดตราสารหนี้ ซึ่งกำลังรอการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดให้ได้

วันนี้ คงต้องยอมรับแล้วว่า โศกนาฏกรรมแบบกรีกนั้น จะต้องเกิดขึ้นรอบใหม่ ส่วนจะมีต้นทุนเท่าใด ยังต้องคาดเดากันต่อไป

การลดทอนปัญหาของกรีซให้จำกัดไว้แค่กรีซเอง ย่อมดีกว่าจะยอมให้ปัญหาของกรีซเป็นปัญหาของยูโรโซนทั้งหมด อาจจะเป็นทางออกที่ถูกต้องในระยะยาว โดยยอมแลกกับความเสียหายระยะสั้นที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่พ้น

โดยเฉพาะผลเสียหายต่อตลาดทุนในวันนี้เป็นต้นไป

 

 

Back to top button