เขย่าตัวเองทายท้าวิชามาร
รัฐบาล คสช.เขย่าตัวเอง 2 กรณีซ้อน ทั้งการจับ 14 นักศึกษาเคลื่อนไหว “ต้านเผด็จการ” ส่งศาลทหารส่งเรือนจำกลางดึกและออกคำสั่ง ม.44 ย้าย-แขวน 71 ข้าราชการนักการเมืองท้องถิ่น รวมทั้งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
รัฐบาล คสช.เขย่าตัวเอง 2 กรณีซ้อน ทั้งการจับ 14 นักศึกษาเคลื่อนไหว “ต้านเผด็จการ” ส่งศาลทหารส่งเรือนจำกลางดึกและออกคำสั่ง ม.44 ย้าย-แขวน 71 ข้าราชการนักการเมืองท้องถิ่น รวมทั้งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
แน่ละ การจับ 14 นักศึกษาไม่ได้ทำให้เกิด “14 ตุลา” เพราะอำนาจ คสช.ยังเข้มแข็งเป็นปึกแผ่น แถมมี “คนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมี” ช่วยโจมตีว่านักศึกษารับเงินทักษิณ ขณะที่ชาวบ้านทั่วไปก็ยังไม่ได้รู้สึกไม่พอใจจนต้องลุกขึ้นมาไล่ แต่ชั่งน้ำหนักหน่อยว่าระหว่างจับกับปล่อย หรือจับแล้วปล่อย หรืออย่างน้อยจับแล้วเอาไปกักตัวไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่ “คุก” อย่างไหนส่งผลดีกว่าต่อภาพลักษณ์ “คณะรัฐประหาร”
รัฐบาลอาจบอกว่า “จนปัญญา” เพราะนักศึกษากลุ่มนี้เคลื่อนไหวมาทั้งปี ปล่อยไปก็เคลื่อนไหวอีก แต่ท่านมีกำลังคนกำลังความคิดมากมาย คิดหาวิธีการอื่นไม่ได้หรือ
น่าสังเกตว่าวันพุธ วันพฤหัสบดี รัฐบาลยังไม่มีท่าทีแข็งกร้าว พล.อ.ประยุทธ์ก็ยอมรับว่าที่ทำไป (รัฐประหาร) ไม่ใช่ทำถูกแต่ทำไงได้มันจำเป็นขอเวลาหน่อย แต่พอวันศุกร์ไหงคณะนายพลประสานเสียง “นศ.มีเบื้องหลัง” อ้าว! ใครล่ะ ส.ศิวรักษ์มั้ง เพราะให้ที่อยู่ที่กินไม่รู้หรือว่ากลุ่ม “ดาวดิน” ต่อต้านเหมืองทองตั้งแต่ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ นักศึกษาบางคนก็เคยร่วมม็อบพันธมิตรยึดทำเนียบ ฉะนั้น ไม่ง่ายหรอกที่จะกล่าวหาว่าทักษิณอยู่เบื้องหลัง
ย้ำอีกครั้ง 14 นศ.ไม่สามารถเป็นชนวน 14 ตุลา แต่การดำเนินการของรัฐบาลนั่นละ เขย่าตัวเอง ไม่ต้องพูดถึงภาพลักษณ์ต่างประเทศ เอาภายในประเทศนี่แหละ ลองวัดดูไหมว่านอกจากพวกเป่านกหวีดแล้ว ชาวบ้านทั่วๆ ไป คนตรงกลางๆ เขารู้สึกอย่างไร อย่าลืมว่า 14 นศ.ก็มีเพื่อนมีอาจารย์ในแต่ละสถาบัน ซึ่งต่อให้ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว ก็ยังเห็นใจเพื่อนเห็นใจลูกศิษย์ อย่างน้อยก็เห็นว่าไม่น่าเอาเข้าคุก
รบกับเด็กไม่สนุกหรอกครับ อย่างเก่งก็เสมอตัว แล้วอย่าลืมว่าท่านเพิ่งรบกับสื่ออีกต่างหาก
คำสั่ง ม.44 ครั้งนี้น่าสนใจว่านอกจาก 21 ข้าราชการ ท่านยังกวาดนายก อบจ.7 จังหวัด นายกเทศมนตรี นายก อบต.อีกกว่า 30 คนส่งผลสะเทือนกว้างมาก แม้ไม่ได้มุ่งกวาดล้างฝ่ายใด เพราะมีทุกสี กระทั่งนายกเทศมนตรีเมืองตรังบ้านชวน หลีกภัย ก็โดนด้วย
แต่ต้องเข้าใจว่า ม.44 เป็นอำนาจเด็ดขาดที่คลุมเครือ ใช้ลงดาบโดยอาศัยสังคมเชื่อว่าโกง แต่ไม่มีข้อพิสูจน์ ผลของคำสั่งจึงมีแต่ผู้ได้รับผลกระทบที่รู้แก่ใจ เช่น ชาวมหาวิทยาลัยไชโยโห่ร้องอธิการบดีถูกย้าย หรือนายก อบจ.บางจังหวัดชาวบ้านแทบจุดประทัดไล่ แต่ถ้าจังหวัดไหน ตำบลไหน ชาวบ้านยังนิยม แล้วก็ยังงงๆ ว่าโดน ม.44 ได้ไง ถ้าป.ป.ช. สตง. ปปท.เคลียร์ไม่ชัด มันก็จะบานปลายภายหลัง
เช่นเดียวกับการย้าย นพ.วินัย สวัสดิวร เลขา สปสช.ซึ่งเจ้าหน้าที่พากันปิดไฟ จุดเทียน ร้องเพลง แสดงสัญลักษณ์ประท้วงคำสั่ง ขณะที่หมอมงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุขยุคขิงแก่ก็ยังบอกว่า “อคติ”
พูดง่ายๆ ม.44 ใช้ได้กับคนไม่มีเครดิต แต่พอใช้กับหมอวินัย ซึ่งมีเครดิตสูงในภาคประชาสังคม มันก็เป็นปัญหา
กระทรวงสาธารณสุขขัดแย้งมายาวนาน ระหว่าง “ประชาคมสาธารณสุข” กับ “องค์กรตระกูล ส.” ฝ่ายแรกถูก “เด็ดหัว” คือปลัดณรงค์ สหเมธาพัฒน์แล้วก็ไปร้อง สตง.สอบ สปสช.ผลออกมาหมอวินัยโดน ม.44 ฟังเหมือน Win-Win Lose-Lose โดนทั้งคู่ แต่ไม่จบหรอก ยังจะงัดอะไรมาซัดกันอีกเยอะ ถ้ารัฐบาล คสช.จัดการไม่ดีพอก็จะเขย่าตัวเองแบบครั้งนี้
ใบตองแห้ง