แก้หุ้นตกสไตล์จีนพลวัต2015
วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ปิดที่ 4,192 จุด ติดลบแรงมากถึง 334 จุด หรือ 7% เศษ เป็นสถิติร่วงวันเดียวในรอบหลายปีของตลาดแห่งนี้
วันศุกร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ปิดที่ 4,192 จุด ติดลบแรงมากถึง 334 จุด หรือ 7% เศษ เป็นสถิติร่วงวันเดียวในรอบหลายปีของตลาดแห่งนี้
หากนับตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่ดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้สูงสุดในรอบ 7 ปีที่ระดับ 5,166 จุด นับจากยอดที่เคยสูงสุด 6,000 จุดเมื่อเกิดฟองสบู่ตลาดหุ้นครั้งแรก พบว่าดัชนีตกหนักจนถึงเมื่อวันศุกร์ถึง 974 จุด และหากนับวันจันทร์วานนี้เข้าไปด้วย ดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ที่ปิด 4,053 จุด จะลบมากถึง 1,113 จุด
ตลาดหุ้นถือเป็นกลไกแห่งความหวังที่ทางการจีนปักกิ่งต้องการนำมาปลอบประโลมว่าเศรษฐกิจจีนยังมีอนาคตในช่วงปรับดุลยภาพ เมื่อตลาดหุ้นตก การรับมือกับปัญหาหุ้นตกหนัก จึงเป็นมากกว่าเรื่องกลไกตลาด แต่เป็นประเด็นทางการเมืองสำหรับทางการจีน
นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นความเชื่อมั่นของตลาดจะเกิดขึ้นโดยธนาคารกลางที่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จะได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เป็นการลดครั้งที่ 4 ในรอบ 6 เดือน เพื่อหาทางกระตุ้นขวัญและกำลังใจของนักลงทุน แม้จะไม่พูดตรงๆ แต่ก็เข้าใจกันได้
มาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นตลาดคงจะยังไม่เพียงพอ เพราะวันจันทร์คือวานนี้ หน่วยงาน ก.ต.ล. จีน (China Securities Regulatory Commission – CSRC) ได้เรียกประชุมฉุกเฉินกับบรรดาบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน เพื่อหารือว่าจะระงับการออกหุ้นจดทะเบียนใหม่ (IPO) ชั่วคราว เพื่อป้องกันมิให้เกิดสินค้าหลักทรัพย์ล้นตลาด
ไม่มีใครรู้เนื้อหา และรายละเอียดของการประชุมลับดังกล่าว แต่ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเรื่องไม่เพียงแต่แก้ปัญหาปลายเหตุแล้ว ยังเป็นการมักง่ายสิ้นดี
จริงอยู่ มีข้อกล่าวหาว่า ที่ผ่านมาทาง CSRC ทำการอนุมัติให้มีหุ้นและหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้มากเกินขนาด ทำให้เกิดภาวะ ”หุ้นเฟ้อ” ดังจะเห็นได้จากตัวเลข 5 เดือนแรก มีหุ้นเข้าเทรดใหม่ในตลาดเซี่ยงไฮ้ มากถึง 120 ราย เฉลี่ยแล้วมีหุ้นเข้าใหม่วันละ 1 รายในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ และยังมีที่อนุมัติรอการเข้าเทรดหรือค้างท่ออีก 160 รายตลอดปีนี้
จำนวนหุ้นใหม่ที่เข้าเทรดอย่างมากมายนี้ ถูกกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหุ้นตก ซึ่งหากเป็นช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้นหรือภาวะกระทิง ย่อมไม่ใช่ปัญหา เพราะนักสังเกตการณ์ระบุว่า ความจริงแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่ปริมาณ แต่อยู่ที่คุณภาพมากกว่า เพราะหากคิดจากจำนวนหุ้นที่เข้าใหม่มหาศาล เทียบกับเจ้าหน้าที่พิจารณาของ CSRC แล้ว มีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในขั้นตอนการพิจารณาไม่ใช่น้อยที่อาจจะปล่อยหุ้นชั้นเลวออกมาให้นักลงทุนซื้อขายเก็งกำไรจนเกิดภาวะฟองสบู่ดังที่เกิดขึ้นในครึ่งแรกของปีนี้
ดังนั้น มาตรการระงับออก IPO ของ CSRC จึงมีลักษณะ ”เต่าใหญ่ไข่กลบ” ธรรมดาเท่านั้นเอง ไม่ได้แก้ปัญหาต้นเหตุของเรื่องฟองสบู่ตลาดหุ้นแต่อย่างใดร
ความร้อนแรงของการซื้อขายของในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาที่ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ กระทั่งทำให้มูลค่าการซื้อขายประจำวันของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้แซงหน้าวอลล์สตรีทไปเป็นตลาดอันดับหนึ่งของโลกไปแล้ว โดยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ระดับเหนือ 3.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มากแค่ไหนให้เทียบกับมูลค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นนิวยอร์กและแนสแด็กรวมกันที่อยู่ในระดับ 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นความบ้าคลั่งของตลาดนี้ได้ชัดเจน แม้ว่าก่อนหน้านี้มาตรการควบคุมหุ้นร้อนของตลาดถูกนำเสนอออกมาว่าให้โบรกเกอร์ควบคุมบัญชีซื้อขายแบบมาร์จิ้น (ปล่อยเงินกู้ให้ลูกค้าไปซื้อขายหุ้น) เข้มงวดขึ้น จะถูกนำมาใช้ ก็ยังไม่สามารถลดความแปรปรวนระหว่างวันที่รุนแรงของตลาดได้
ยอดตัวเลขการซื้อขายด้วยบัญชีมาร์จิ้นของตลาดเซี่ยงไฮ้ในหลายเดือนมานี้ เพิ่มขึ้นมากกว่าตัวเลขสัดส่วนนักลงทุนเสียอีกเพราะเพิ่มขึ้นมากถึง 10 เท่า หรือ 1,000% ทำให้มาตรการที่เดิมใช้กับตลาดที่เป็นขาลงและราคาหุ้นต่ำเกินไป เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น ซึ่งก็สายเกินไปที่จะแก้ได้ง่ายๆ ในยามที่ตลาดกำลังร้อนระอุ
ภาวะแฮงค์โอเวอร์และความแปรปรวนของแรงเหวี่ยงในการซื้อขายระหว่างวันของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ สำหรับตลาดเกิดใหม่ทั้งหลาย ที่จะมีความไร้เหตุผลของการซื้อขายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเหวี่ยงของราคา แต่ความร้อนแรงดังกล่าว เป็นสิ่งที่จะต้องมีการกำกับดูแลก่อนที่จะพังทลายไปเพราะการฉวยโอกาสของกลุ่มคนที่ต้องการครอบงำราคาหุ้น
ความร้อนแรงของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ซึ่งแพร่ลามมาถึงตลาดหุ้นฮ่องกงด้วยเริ่มพบกับจุดอิ่มตัว หรือแนวต้านสำคัญหลังจากแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีกลางเดือนมิถุนายนไปแล้ว แต่การปรับฐานของตลาด ซึ่งโดยหลักการทั่วไปแล้ว ควรจะอยู่ที่ระดับไม่เกิน 10% กลับไม่เป็นอย่างที่คาดฝันเพราะดัชนีตลาดกลับถูกแรงขายกระหน่ำซ้ำเติมให้ร่วงแรง
กองทุนต่างชาติที่พยายามหาโอกาสเข้าช้อนซื้อหุ้นในราคาต่ำ พยายามโหมประโคมข่าวว่าการออก IPO มากเกินไป คือปัญหาของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ และดูเหมือนจะมีคนขานรับพอสมควร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ CSRC ด้วย
ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นมาตรการบ้องตื้นที่ “หัวร่อไม่ออก ร้องไห้ไม่ได้” แบบที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ให้เห็น