วิกฤตกรีซฉุดตลาดหุ้นสหรัฐ-ยุโรปร่วงระนาว”ซิปราส” ขู่รับผลกระทบแน่หากตัดกรีซจากยูโรโซน
วิกฤตกรีซฉุดตลาดหุ้นสหรัฐ - ยุโรปร่วงระนาว "อเล็กซิส ซิปราส" เผยกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ต้องการให้กรีซออกจากกลุ่มยูโรโซน ขู่หากนำกรีซออกจากยูโรโซนจะได้รับผลกระทบอย่างมาก ขณะที่ "เกศรา" มองปัญหากระทบไทยช่วงสั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่กรีซและเหล่าเจ้าหนี้ล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงปล่อยเงินช่วยเหลือแก่เอเธนส์ให้ทันเวลาที่ต้องชำระหนี้จำนวน 1,500 ล้านยูโรแก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศในวันอังคาร (30 มิ.ย.) ด้วยความกังวลว่ากรีซอาจผิดนัดชำระหนี้ได้ฉุดตลาดหุ้นสหรัฐฯ วานนี้่ (29 มิ.ย.) ร่วงลงอย่างหนัก และปิดลบตามตลาดทุนทั่วโลก
โดยดาวโจนส์ ลดลง 350.33 จุด (1.95%) ปิดที่ 17,596.35 จุด ,เอสแอนด์พี ลดลง 43.85 จุด (2.09%) ปิดที่ 2,057.64 จุด ,แนสแดค ลดลง 122.04 จุด (2.40%) ปิดที่ 4,958.47 จุด ขณะเดียวกันในวันที่ (29 มิ.ย.) หุ้นเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวลงมากกว่า 2% และยังเป็นการปิดลบหนักหน่วงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 57
ขณะที่นายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซิปราส ผู้นำรัฐบาลฝ่ายซ้ายของกรีซ ได้ออกมาประกาศมาตรการควบคุมเงินทุน และสั่งปิดทำการสถาบันการเงินทั่วประเทศ เพื่อรับมือกับวิกฤตแห่ถอนเงินของประชาชนในประเทศที่รู้สึกกังวลต่ออนาคตของกรีซ หลังรัฐบาลเอเธนส์เลือกใช้การจัดลงประชามติเป็นทางออกว่าจะทำอย่างไรกับข้อตกลงทางการเงินกับเจ้าหนี้ต่างชาติ
โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ในวันจันทร์ (29มิ.ย.) สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซ จาก’CCC’ สู่ ‘-CCC’ โดยบอกว่าตอนนี้ความเป็นไปได้ที่เอเธนส์จะออกจากยูโรโซนอยู่ที่ 50-50
อย่างไรก็ตาม วิกฤติทางการเงินที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ของกรีซ ทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และดันราคาทองคำเมื่อวันจันทร์ (29มิ.ย.) แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 5.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,179.00 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้าน นายอเล็กซิส ซิปราส นายกรัฐมนตรีกรีซ เปิดเผยว่า กลุ่มเจ้าหนี้ไม่ต้องการให้กรีซออกจากกลุ่มยูโรโซน ขณะที่กรีซใช้มาตรการควบคุมเงินทุนและปิดธนาคารพาณิชย์ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความวิตกกังวลว่ากรีซจะผิดนัดชำระหนี้และต้องออกจากยูโรโซน
“ผมไม่คิดว่ากลุ่มเจ้าหนี้ต้องการจะผลักเราออกจากยูโรโซน เพราะพวกเขาจะได้รับผลกระทบอย่างมากด้วย” นายอเล็กซิส ซิปราส กล่าว
นอกจากนี้ นายซิปราสยังได้กล่าวปกป้องกรณีที่เขาประกาศจัดทำประชามติในวันที่ 5 ก.ค.นี้ เพื่อให้ประชาชนร่วมตัดสินใจว่าจะยอมรับเงื่อนไขการปฏิรูปเพื่อแลกกับความช่วยเหลือของเจ้าหนี้หรือไม่
ทั้งนี้ นายซิปราสส่งสัญญาณว่าเขาอาจจะลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางสู่การเลือกตั้งใหม่ หรือจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หากผลการลงประชามติระบุว่า ประชาชนยอมรับเงื่อนไขการปฏิรูปที่ครอบคลุมถึงมาตรการรัดเข็มขัด
ขณะที่ บรรดาผู้นำสหภาพยุโรป (EU) กล่าวเตือนว่า หากประชาชนชาวกรีซเลือกที่จะปฏิเสธข้อเสนอของกลุ่มเจ้าหนี้ในการลงประชามติที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์นี้ก็หมายความว่ากรีซจะต้องออกจากการเป็นสมาชิกของยูโรโซน
โดยนายซิกมาร์ กาเบรียล รองนายกรัฐมนตรีเยอรมนี เปิดเผยว่าผลการลงประชามติจะชี้ชะตาว่ากรีซจะอยู่หรือไปจากยูโรโซน ด้านนายกรัฐมตรีมัตเตโอ เรนซีของอิตาลี เปิดเผยว่า การตัดสินใจของชาวกรีซในวันอาทิตย์นี้จะเป็นการเลือกระหว่างสกุลเงินยูโร หรือสกุลเงินดราชมา (drachma) ส่วนประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ของฝรั่งเศส เปิดเผยว่า ผลการลงประชามติจะบ่งชี้ว่าชาวกรีซต้องการจะอยู่ในยูโรโซนต่อไปหรือไม่
ที่มา…สำนักข่าวอินโฟเควสท์แปล
ด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ของกรีซล่าสุด สศค.ประเมินว่า ผลกระทบจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากปัญหาหนี้กรีซได้เปลี่ยนเจ้าหนี้ไปเป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB และสหภาพยุโรป หรือ EU แล้ว ซึ่งมีแผนรองรับเตรียมพร้อมไว้แล้ว
นอกจากนี้เศรษฐกิจของกรีซคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีของยุโรปเพียง 2% จึงไม่น่ากระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของยุโรปมากนัก ดังนั้นผลต่อประเทศไทยโดยตรงน่าจะมีค่อนข้างน้อย จึงไม่เป็นห่วงเรื่องการค้า การลงทุน รวมถึงตลาดเงิน ตลาดทุน แต่ในส่วนของเงินทุนเคลื่อนย้ายอาจมีผลกระทบบ้าง ซึ่งมั่นใจว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดูแลได้
ขณะที่ นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ความวิตกกังวลเรื่องกรีซจะมีผลต่อตลาดหุ้นไทยเพียงระยะสั้นเท่านั้น หลังจากสหภาพยุโรป หรือ อียู จะไม่ให้เงินช่วยเหลือกรีซเพิ่มเติม แต่ปัญหากรีซเกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 54 และมาตรการของเจ้าหนี้ก็เพื่อให้กรีซมีวินัยการทางเงินมากขึ้น เพราะเกรงว่าปัญหาจะลุกลามไปยังประเทศอื่น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพในระยะยาว