พาราสาวะถีอรชุน
ประเด็นว่าด้วยการส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คนกลับไปให้จีนยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แม้ว่าจะมีบางคนที่แสดงท่าทีชัดเจนในการสนับสนุนม็อบกปปส.จนถึงการยกมือเชียร์คสช.ให้ยึดอำนาจ จะออกมาโพสต์ข้อความแสดงความเห็นในทำนอง “จีนจะโหดร้ายกับชาวอุยกูร์ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา” ทำให้หลายฝ่ายรู้สึกเศร้าใจกับท่วงทำนองของคนเห็นแก่ตัว
ประเด็นว่าด้วยการส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คนกลับไปให้จีนยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แม้ว่าจะมีบางคนที่แสดงท่าทีชัดเจนในการสนับสนุนม็อบกปปส.จนถึงการยกมือเชียร์คสช.ให้ยึดอำนาจ จะออกมาโพสต์ข้อความแสดงความเห็นในทำนอง “จีนจะโหดร้ายกับชาวอุยกูร์ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา” ทำให้หลายฝ่ายรู้สึกเศร้าใจกับท่วงทำนองของคนเห็นแก่ตัว
นั่นเป็นความเห็นของคนที่หนุนรัฐบาลคสช. แต่แถลงการณ์ล่าสุดของกลุ่มสหภาพยุโรปหรืออียู น่าจะเป็นภาพสะท้อนอย่างดี สำหรับท่าทีของนานาชาติที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลไทย โดยอียูตำหนิไทยว่า “เอาใจจีนมากเกินไป จนละเมิดหลักการไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับหากเห็นว่าจะได้รับอันตราย” แม้ทางการไทยจะยืนยันจีนให้หลักประกันเรื่องความปลอดภัยและความยุติธรรมแก่ชาวอุยกูร์ดังกล่าว
เหตุผลอีกประการของทางการไทยที่เลือกส่งชาวอุยกูร์จำนวนดังกล่าวไปจีน เพราะตรวจสอบพบว่าเป็นคนสัญชาติจีนและจีนเรียกร้องให้ส่งคนจำนวนนี้กลับไปสู่กระบวนการพิจารณาตามกฎหมายจีน เมื่อยึดแนวทางนี้จึงชัดเจนว่า รัฐบาลคสช.ได้ยึดสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นหลัก แม้ความจริงจีนจะไม่ได้ลงนามสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนตามกฎหมายสากลก็ตาม
แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตุรกีแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง ต่อการกระทำครั้งนี้ คงเป็นเพราะมีข้อมูลระบุว่า ชาวอุยกูร์จำนวน 300 คนที่หนีเข้าไทยเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วนั้น รัฐบาลตุรกีได้ประสานการขอลี้ภัยโดยอาศัยไทยรับตัวไว้ชั่วคราว เพื่อส่งไปลี้ภัยในตุรกี ดังนั้น ไทยจึงมีความจำเป็นต้องรับผิดชอบในความปลอดภัยของชาวอุยกูร์เหล่านี้ในฐานะประเทศที่ให้การพักพิงแก่ผู้ที่ดำเนินการลี้ภัยตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล
นั่นหมายความว่า ไทยมีหน้าที่ต้องทำตามข้อตกลงภาคีระหว่างประเทศ หลักกฎหมายระหว่างประเทศ เรื่องการให้ผู้ขอลี้ภัยทางการเมืองมีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครอง และจะต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย รวมถึงไม่ส่งตัวผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไปยังประเทศที่ไม่ได้อยู่ในสนธิสัญญา ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ลี้ภัยถูกดำเนินคดีทางการเมืองอย่างไม่ยุติธรรมหรือถูกส่งกลับไปเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิ์จากประเทศของผู้ลี้ภัย
จังหวะของการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปยังจีนนั้น ประจวบเหมาะกับที่มีข่าวว่ารัฐบาลไทยกำลังจะซื้อเรือดำน้ำจากจีน จึงถูกประณามจากองค์การสหประชาชาติ องค์กรสิทธิมนุษยชนและอีกหลายประเทศ ด้วยข้อหารุนแรง ถึงขนาดที่มองว่า มีการเอาชาวอุยกูร์มาเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนกับการกู้เงินและส่วนลดซื้อเรือดำน้ำจากจีน
การถูกกดดันด้วยปัญหาสารพัดในยามนี้ จากที่มองว่าปิดกั้นสิทธิ เสรีภาพการแสดงของคนในประเทศเลยเถิดไปจนถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หนทางเดียวที่รัฐบาลคสช.ควรคำนึงถึงคือ ควรจะเปิดพื้นที่ของเสรีภาพให้มีมากขึ้น หากต้องการเห็นประเทศสงบสุขยั่งยืนอย่างแท้จริง ถ้ายึดตามสิ่งที่ทำอยู่คำว่า“เสียของ” อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
เหมือนอย่างที่ จาตุรนต์ ฉายแสง ได้เขียนบทความไว้วันก่อนเรื่อง ความสงบสุขที่ไม่ยั่งยืน โดยบางช่วงบางตอนบอกว่า คำถามหลังจากที่คสช.ได้ขอเวลาและใช้เวลามาระยะหนึ่งแล้ว สังคมไทยกำลังจะก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางของความสงบสุขที่ยิ่งยืนจริงหรือ ในอนาคตข้างหน้า เมื่อไม่มีคสช.แล้ว รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะบังคับใช้กฎหมายได้หรือไม่ จะป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งวุ่นวายอย่างที่แล้วมาได้หรือไม่
หากพิจารณาจากปัญหาในอดีต สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมาและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญหรือแผนการต่างๆ คงต้องบอกว่าไม่มีวี่แววเลยว่าสังคมไทยจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งสับสนวุ่นวายขึ้นอีก ตรงกันข้าม ถ้าวิเคราะห์กันดีๆ หากแม่น้ำ 5 สายยังไหลไปเรื่อยๆ แบบทุกวันนี้ ในอนาคตอันใกล้สังคมไทยอาจจะพบกับความขัดแย้งวุ่นวายยิ่งกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนการรัฐประหารก็ได้
หมายความว่าความสงบในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ความสงบที่แท้จริงและไม่ใช่ความสงบที่ยั่งยืน นั่นเป็นเพราะ จนถึงบัดนี้ สังคมไทยโดยเฉพาะผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา ยังไม่ได้ร่วมกันวิเคราะห์หรือเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับต้นเหตุของความขัดแย้งเพื่อสรุปบทเรียน และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงอย่างในอดีตขึ้นอีก
ยังไม่มีการค้นหาสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลก่อนการรัฐประหาร ที่มีทั้งรุนแรงเกินกว่าเหตุและอ่อนแอจนไม่สามารถรักษากฎหมายให้เป็นกฎหมายได้ ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงถึงการตรวจสอบควบคุมรัฐบาล บทบาทของระบบยุติธรรม การทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ และการสนองตอบของกลไกรัฐต่อการสั่งการของรัฐบาล
การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จจัดการกับปัญหาต่างๆ และบริหารบ้านเมือง โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมจากประชาชนฝ่ายต่างๆ กำลังสะสมปัญหาความขัดแย้งที่อาจปะทุขึ้นเมื่อใดก็ได้ และยากแก่การแก้ไขในอนาคต ยังไม่มีการชำระล้างค่านิยมความเชื่อผิดๆ ที่ว่า หากมีความขัดแย้งรุนแรงขึ้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบ และหากรัฐบาลไม่สามารถรักษากฎหมายให้เป็นกฎหมาย ก็ชอบแล้วที่จะต้องมีการรัฐประหารเกิดขึ้น
ขณะที่การร่างรัฐธรรมนูญและการวางแผนปฏิรูปกำลังสร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้นในอนาคต ทั้งการทำให้รัฐบาลอ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพ และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ และยังจะซ้ำเติมปัญหาเดิมด้วยการเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระในการกำหนดความอยู่รอดของรัฐบาล ลดอำนาจของรัฐบาลในการบังคับบัญชาข้าราชการประจำและกลไกของรัฐ
โดยที่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้อีก ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดวิกฤติร้ายแรงขึ้นได้ นี่ย่อมไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยต้องการและรอคอย หากต้องการให้เกิดความสงบที่ยั่งยืนจริง ก็จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้ทุกฝ่ายสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างเต็มที่เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป แต่ถ้ายังเดินไปในแนวทางนี้คงไม่มีทางที่จะสำเร็จ เมื่อนั้นถามว่า ใครจะเป็นผู้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้น