ตัดขาดทุน หรือ ทำกำไรพลวัต2015
เช้าวันนี้คงรู้กันแล้วว่า เจ้าหนี้หรือทรอยก้า ของยุโรป จะตกลงด้วยดีในกรณีกรีซได้หรือไม่ ความแตกต่างระหว่างตกลงได้กับล่มสลาย ต่างกันเหมือนสวรรค์กับนรกทีเดียว
เช้าวันนี้คงรู้กันแล้วว่า เจ้าหนี้หรือทรอยก้า ของยุโรป จะตกลงด้วยดีในกรณีกรีซได้หรือไม่ ความแตกต่างระหว่างตกลงได้กับล่มสลาย ต่างกันเหมือนสวรรค์กับนรกทีเดียว
นักวิเคราะห์บางสำนักที่ชอบเชียร์แขกบอกว่า ถ้าตกลงได้ดัชนี จะฝ่าแนวต้านไปเหนือ 1,500 จุด แล้วไปต่อที่ 1,530 จุด พลิกกลับเป็นขาขึ้นให้ซื้อสะสม แต่บางสำนักที่รอบคอบกว่าบอกว่าอาจพลิกกลับไปยืนเหนือ 1,500 จุด แต่ชั่วคราวแล้วแกว่งตัวลง เพราะข่าวร้ายเรื่องผลประกอบการรออยู่ข้างหน้า ให้ซื้อเก็งกำไร
ส่วนในกรณีการตกลงล้มเหลว คำแนะนำคือขายตัดขาดทุนกันเลย
สำหรับนักลงทุน กรณีของหนี้กรีซจะตกลงได้ สามารถย่นย่อลงมาเหลือแค่จะซื้อเพื่อขายทำกำไรกัน ถ้าหากว่าบรรลุเป้าหมาย หรือว่าจะขายตัดขาดทุน
ประเด็นสำคัญคือจุดไหนถึงจะเป็นจุดขายทำกำไร จุดไหนควรจะเป็นจุดตัดขาดทุน ตรงนี้ยากที่จะคาดเดาได้ และนักวิเคราะห์ก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้เลย
นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดีกับคำว่า ราคาเป้าหมาย ที่นักวิเคราะห์กำหนดขึ้นมา ส่วนใหญ่ไม่เคยตรงกัน แต่ราคาเป้าหมายเป็นราคาจินตภาพ ไม่มีในความเป็นจริง ดังนั้น ในทางปฏิบัติ จุดขายทำกำไร คือจุดที่ขึ้นกับจินตนาการของนักลงทุนแต่ละคนเช่นกัน
กรณีของหุ้นจุดขายทำกำไรของหุ้นแต่ละตัว เป็นประเด็นที่โยงใยกับสัญญาณทางเทคนิคทั้งสิ้น นักลงทุนเน้นคุณค่าจะเพิกเฉยและมองข้ามกับเรื่องนี้ไปเลย เพราะสัญญาณทางเทคนิค เป็นสัญญาณระยะสั้น ที่มีไว้สำหรับการกำหนดจุดซื้อขาย เพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของราคาในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น
นักลงทุนระยะสั้น โดยทั่วไปเหมาะกับรายย่อยที่มีหน้าตักน้อย เน้นหนักเรื่องของ “กำไรน้อย ดีกว่าขาดทุน” จึงต้องทำความเข้าใจกับสัญญาณเทคนิคของราคา เพื่อกำหนดจุดเข้าซื้อ และจุดขายทำกำไร
ในทางเทคนิค ราคาหุ้นที่กำลังวิ่งขึ้นจะมีขีดจำกัดของการแกว่งตัวช่วงสั้นๆ อาจเป็น 3-5 วัน หรือ 2 สัปดาห์ ขึ้นกับกรณี เช่น มีข้อมูลเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของกิจการ หรือมีข่าวดีมาก มาสนับสนุนการวิ่งขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งที่บ่งชี้ว่าเข้าเขตซื้อมากเกิน การขายทำกำไร เป็นความชาญฉลาดของนักลงทุน เพราะจะสามารถกลับมาซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ายอด เรียกว่าเพิ่มหน้าตักเงินสดในการซื้อครั้งต่อไปได้
การขายทำกำไรจึงเป็นการหากำไรได้หลายรอบระยะสั้นๆ หากคิดในภาพรวมอาจทำให้กำไรมากกว่าการทำกำไรรอบเดียวแบบนักลงทุนระยะยาวหรือวีไอได้
ที่สำคัญการขายทำกำไรระยะสั้น เป็นการลดความเสี่ยงชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ตลาดผันผวน อย่างเช่นในปีนี้ที่เศรษฐกิจในภาพรวมไม่ดีเลย เพราะทำให้เงินสดอยู่ในมือมีสภาพคล่องสูง ไม่เสี่ยง “ติดดอย”
ประเด็นที่ยากสุดสำหรับนักลงทุนที่เล่นกับการขายทำกำไรด้วยสัญญาณเทคนิคอยู่ที่จะต้องไม่หันหลังกลับไปเสียใจที่หลังจากขายไปแล้วพบว่า ราคาหุ้นบางรายการ วิ่งขึ้นต่อไปอีก ทำให้บางคนทำใจไม่ได้ เพราะเสียใจกับการ “ขายหมู” ที่เกิดขึ้น
ในมุมกลับกันการตัดขาดทุน ถือเป็นศิลปะที่ซับซ้อนกว่าการขายทำกำไร
การตัดขาดทุน ในทางทฤษฎีจะกระทำเมื่อพื้นฐานของกิจการของบริษัทเจ้าของหุ้นนั้นๆ เปลี่ยนแปลงในทางเลวร้ายลง เช่นคาดว่ากำไรต่ำกว่าคาด หรือต่ำกว่าแผนที่ตั้ง หรือขาดทุนมากขึ้นจำต้องขายทิ้งออกไป แม้จะขาดทุนก็ตามถือหลัก ขายก่อนขาดทุนน้อยกว่า
ปัญหามันอยู่ที่นักลงทุนจำนวนไม่น้อย ไม่สามารถทำใจได้เลยว่าจะต้องขายขาดทุน มีคนเชื่อว่าโดยรากฐานเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1) เชื่อว่าการเล่นหุ้น มีแต่ได้ รวยทุกคน ไม่จริง 2) ไม่ได้กำหนดปริมาณความเสี่ยงที่ตัวเราเองจะรับไว้ได้ล่วงหน้า ก่อนที่จะเข้าซื้อหุ้น
2 ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนไม่มีความยืดหยุ่น จนกระทั่งยอม “ติดดอย” อย่างไร้ความจำเป็นข้างต้น เป็นเพราะนักลงทุนไม่มีความสามารถที่จะบริหารความโลภและความเสี่ยงอันเป็นพื้นฐานของการลงทุนในตลาดเก็งกำไร
ในทางปฏิบัติ หุ้นที่จำต้องตัดขาดทุนอาจไม่จำเป็นต้องเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานแย่ลงจริง แต่เป็นเพราะภาวะของตลาดแย่ลง ก็มีส่วนทำให้การตัดขาดทุนเป็นสิ่งพึงกระทำได้เช่นกัน ไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว
คำพูดเก่าแก่ที่ว่า “นักลงทุนที่ดี ต้องตัดขาดทุน” อาจดูคร่ำครึ และเกินจริงไปบ้าง แต่ก็ช่วยเตือนสติได้ไม่น้อย เพราะโดยประสบการณ์ของนักลงทุนในตลาดเก็งกำไรที่ยาวนาน เป็นที่ยอมรับกันว่าประโยชน์ของการตัดขาดทุนนั้น ช่วยให้การบริหารพอร์ตมีความสะดวกและคล่องตัวมากกว่าการยึดติดมาก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นจุดเด่น 2 ด้านคือ
– รักษาความสามารถของพอร์ตลงทุน เพราะถูกประเมินความเสียหายมากสุดเอาไว้ล่วงหน้าและทำให้ไม่หวั่นไหวต่อการลงทุนคราวต่อไป
– หลีกเลี่ยงอาการติดดอย ส่งผลในเรื่องของค่าเสียโอกาส ทำให้สามารถสร้างโอกาสลงทุนในหุ้นตัวอื่นที่มีโอกาสทำกำไรได้มากกว่าในอนาคต
วันนี้หรือสัปดาห์นี้ เราจะได้เห็นและพิสูจน์ฝีมือของนักลงทุนกันว่า ใครจะขายทำกำไรเก่ง ใครจะตัดขาดทุนเก่ง ซึ่งผลตอบแทนที่เป็นรางวัล เจ้าตัวคงรู้แก่ใจดีว่าผลลัพธ์เป็นแบบไหนกันแน่…