กลุ่มการบินขยับลงยกแผง เหตุวิตก FAA ระบุ บพ. ไม่ผ่านมาตรฐาน

กลุ่มการบินขยับลงยกแผง เหตุวิตก FAA ระบุ บพ. ไม่ผ่านมาตรฐาน โดยจะให้เวลาไทยแก้ไข 65 วัน (นับจาก 17 ก.ค.) NOK, AAV และ BA อาจได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย แต่ก็มีความเสี่ยงที่ประเทศต่างๆ อาจมีมาตรการกับสายการบินจากไทยเพิ่มขึ้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ณ เวลา 10.54 น.อยู่ที่ 4.72 บาท ลบ 0.02 บาท หรือ 0.42% มูลค่าการซื้อขาย 5.69 ล้านบาท

ราคาหุ้น บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ณ เวลา 10.54 น.อยู่ที่ 22.30 บาท ลบ 0.20 บาท หรือ 0.89% มูลค่าการซื้อขาย 25.99 ล้านบาท

ราคาหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ณ เวลา 10.54 น.อยู่ที่ 13.00 บาท ลบ 0.10 บาท หรือ 0.76% มูลค่าการซื้อขาย 6.92 ล้านบาท

ราคาหุ้น บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ณ เวลา 10.54 น.อยู่ที่ 9.70 บาท ลบ 0.05 บาท หรือ 0.51% มูลค่าการซื้อขาย 0.52 ล้านบาท

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์(20 ก.ค.)ว่า กรณีในวันที่ 13-17 ก.ค. FAA (คณะองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐ) เข้าตรวจสอบมาตรฐานการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินของกรมการบินพลเรือน (บพ.) และได้รายงานผลทางวาจาให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว. รับทราบว่าพบประเด็นที่ฝ่ายไทยและ บพ.ต้องแก้ไข 3 เรื่อง (จำนวนและคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินไม่เพียงพอ, แนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ไม่ครบถ้วนและไม่ทันสมัย และการตรวจและติดตามไม่ครบถ้วน) โดยจะให้เวลาไทยแก้ไข 65 วัน (นับจาก 17 ก.ค.) แต่ภายใน 30 วัน FAA จะมีการแจ้งอย่างเป็นทางการว่าต้องแก้ไขเรื่องใดบ้าง และเมื่อครบกำหนด 65 วัน FAA จะเข้ามาตรวจสอบอีกครั้งภายใน 30 วัน ก่อนจะแจ้งผลว่าไทยยังอยู่ในมาตรฐาน

โดยการตรวจสายการบิน 41 แห่งไม่น่าจะเสร็จทันปลายปีนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ระบุแม้ว่าคู่มือการตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาตสายการบินใหม่จะแล้วเสร็จ แต่การเริ่มกระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินอากาศใหม่ (AOC re-Certificate) ยังทำไม่ได้ เพราะยังขาดผู้เชี่ยวชาญ และขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะได้ผู้เชี่ยวชาญมาเมื่อใด ทั้งนี้ การทำ AOC re-Certificate เป็นหนึ่งในกระบวนการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) ที่ไม่ผ่านมาตรฐานของ ICAO ก่อนหน้านี้

หากถูกปรับเป็น Category 2 จะทำให้ธุรกิจการบินไทยเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากอาจทำให้สายการบินที่มีเที่ยวบินไปสหรัฐถูกห้ามเพิ่มเส้นทางบินใหม่ และที่น่ากังวลคือ FAA อาจส่งข้อมูลไปให้กับสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป (EASA) และอาจทำให้ EASA มีการพิจารณาในทางลบกับไทยจากก่อนหน้านี้ที่ EASA ระบุว่าไม่มีมาตรการเพิ่มเติมกับไทยหลังจากที่ ICAO มีการขึ้นธงแดงประเทศไทย  (ที่มา : โพสต์ทูเดย์ 18 ก.ค.)

ทั้งนี้ มีมุมมอง Negative ต่อประเด็นข้างต้น เนื่องจากมีความเสี่ยงว่าการแก้ไขของทางการไทยอาจไม่ทันกำหนดของ FAA และอาจทำให้ไทยถูกลดระดับเป็น Category 2 ซึ่งจะทำให้ธุรกิจการบินไทยมีข้อจำกัดในการดำเนินงานมากขึ้น เช่น การห้ามสายการบินจากไทยบินเข้าน่านฟ้าสหรัฐ และ EASA อาจเพิ่มมาตรฐานควบคุมสายการบินจากประเทศไทยเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ซึ่งจะส่งผลต่อสายการบินที่มีสัดส่วนรายได้สูงจากเที่ยวบินไปสหรัฐและยุโรป เช่น THAI ขณะที่สายการบินที่มีรายได้หลักจากเที่ยวบินในประเทศและภูมิภาคใกล้เคียง เช่น NOK, AAV และ BA อาจได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย แต่ก็มีความเสี่ยงที่ประเทศต่างๆ อาจมีมาตรการกับสายการบินจากไทยเพิ่มขึ้น ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือความคืบหน้าของการแก้ไขข้อบกพร่องที่ไม่ได้มาตรฐานของ บพ. ซึ่งจะทำให้ธุรกิจการบินไทยกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

Back to top button