SCBAM เปิด 3 กองทุนใหม่ กระจายลงทุนเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทน

SCBAM ออก "SCB Mixed Fund Series" กระจายลงทุนเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทน


นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เปิดตัวกองทุนใหม่ SCB Mixed Fund Series ซึ่งเป็นกองทุนจัดสรรสินทรัพย์ที่มีเป้าหมายเป็นอัตราผลตอบแทนที่ใช้เป็นดัชนีชี้วัดที่ชัดเจน ประกอบด้วย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์มิกซ์ มายด์ (SCB Mixed – Mild Fund) มีอัตราผลตอบแทนที่ใช้เป็นดัชนีชี้วัดประมาณ 4% กองทุนเปิดไทยพาณิชย์มิกซ์ คลาสสิค (SCB Mixed – Classic Fund) มีอัตราผลตอบแทนที่ใช้เป็นดัชนีชี้วัดประมาณ 6%

รวมทั้งกองทุนเปิดไทยพาณิชย์มิกซ์ สไปซี่ (SCB Mixed – Spicy Fund) มีอัตราผลตอบแทนที่ใช้เป็นดัชนีชี้วัดประมาณ 8% โดยอัตราผลตอบแทนที่ใช้เป็นดัชนีชี้วัด เป็นอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี สำหรับระยะเวลาการลงทุนตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ด้วยมูลค่ากองทุนละ 5,000 ล้านบาท เปิดเสนอขายครั้งแรกตั้งแต่วันนี้-22 กรกฎาคม 2562 นี้ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท

โดยทั้ง 3 กองทุนจะกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ สินทรัพย์ทางเลือกทั้งในและต่างประเทศ และการบริหารการลงทุนที่มีกำหนดเป้าหมายอัตราผลตอบแทนเช่นนี้ ทำให้ผู้ลงทุนสามารถคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนได้ชัดเจนขึ้นในทุกสภาวะตลาด

ทั้งนี้ แต่ละกองทุนจะแบ่งสัดส่วนการลงทุนที่แตกต่างกัน โดยกองทุนเปิดไทยพาณิชย์มิกซ์ มายด์ จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย เช่น ไม่เกิน 50 % ของ NAV  กองทุนเปิดไทยพาณิชย์มิกซ์ คลาสสิค จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนปานกลาง เช่น ไม่เกิน 80 %ของ NAV และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์มิกซ์ สไปซี่  จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนสูง เช่น มากกว่า 80 %ของ NAV

โดยในเบื้องต้นกลุ่มกองทุนที่คาดว่าผู้จัดการกองทุนจะเลือกลงทุน ประกอบด้วย กองทุนหุ้นไทย ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ SET50 INDEX (SCBSET50)กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ซีเล็คท์ อิควิตี้ ฟันด์ (SCBSE) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุน Mid/Small Cap (SCBMSE) กองทุนหุ้นต่างประเทศ ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ บิลเลียนแนร์ (SCBBLN) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรปสมอลแคป (SCBEUSM)

สำหรับกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นโกลบอลเฮลธ์แคร์  (SCBGHC) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (SCBNK225)  กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (SCBS&P500)  กองทุนตราสารหนี้ ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ พลัส (SCBFP) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลสตราทีจิก อินเวสเมนท์ (SCBGSIP) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่(SCBEMBOND)และกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซิเบิ้ล (SCBPINA) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลด์ THB เฮดจ์ (SCBGOLDH)

คอนเซปต์การลงทุนกองทุน SCB Mixed Fund Series เป็นมุมมองการลงทุนในระยะยาวสำหรับแผนการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน ในทุกสัปดาห์ผู้จัดการกองทุนจะติดตามและปรับสัดส่วนการลงทุนระยะสั้น โดยมีกระบวนการเริ่มต้นจากมุมมองมหภาคและโมเดลการลงทุน มีประมาณการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุน การเลือกลงทุนในแต่ละประเภทสินทรัพย์ผ่านกองทุน บลจ.ไทยพาณชิย์ และปรับสัดส่วนการลงทุนในรายประเทศ รายอุตสาหกรรมรวมถึงธีมการลงทุน ตรวจสอบและติดตามผลการลงทุน ซึ่งกองทุนดังกล่าวมีช่วงระยะเวลาการลงทุนที่แนะนำ 3 ปีขึ้นไป” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ มองสถานการณ์การลงทุนช่วงครึ่งปีหลังว่า ประเด็นสงครามการค้ายังไม่จบง่ายๆ และจะกลายเป็นสงครามแย่งความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีถึงแม้สหรัฐอเมริกา-จีน จะเจรจาจบไปแล้วในการประชุมG20 เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่แนวโน้มการแข่งเทคโนโลยียังดำเนินต่อ และทำให้ประเทศต่างๆ อาจต้องเลือกข้างว่าจะใช้เทคโนโลยีค่ายไหนระหว่าง สหรัฐฯ-จีน ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกจะเติบโตในอัตราชะลอลง เริ่มจากประเทศเศรษฐกิจหลักๆ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน อย่างไรก็ตามการชะลอไม่ใด้แปลว่าจะเกิดวิกฤติ เพราะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เห็นควรให้สนับสนุนมากขึ้นต่อนโยบายการเงินผ่อนคลาย  โดยมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 30-31 ก.ค. นี้

นอกจากนี้ตลาดยังมองว่าปีนี้อาจลดดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง และอาจมีครั้งที่ 3 ในต้นปีหน้าหากเศรษฐกิจต้องการความช่วยเหลือ ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปกำลังจะได้ผู้นำคนใหม่ คริสติน ลาการ์ด ซึ่งน่าจะดำเนินการนโยบายผ่อนคลายตามที่มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรปส่งสัญญาณไว้ ส่วนธนาคารกลางจีนพร้อมกระตุ้นด้วยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายด้วยเช่นกัน เช่นการลดอัตราส่วนสำรองขั้นต่ำของภาคธนาคาร

สำหรับประเทศไทยนั้นต้องอาศัยการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อสู้กับการชะลอของการส่งออกที่หดตัวตามเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้า ซึ่งเศรษฐกิจโลกจะทำให้การส่งออกหดตัวรวมถึงภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอาจล่าช้าออกไปในช่วงแรก จากการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นผลจากการจัดทำงบประมาณประจำปี 2563 ล่าช้า

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมองเห็นโอกาสที่เม็ดเงินไหลเข้าตลาดเอเชียโดยเฉพาะประเทศไทย เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาต่างชาติลดการถือครองหุ้นไทยไปมากแล้วซึ่งรัฐบาลใหม่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ อีกทั้งค่าเงินบาทยังมีพื้นฐานแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ สามารถดึงดูดเม็ดเงินให้เข้าอย่างต่อเนื่อง

โดยบลจ.ไทยพาณิชย์ ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นไทย ซึ่งจะได้รับผลดีจากสภาพคล่องภายในประเทศที่ยังล้นและสามารถเติบโตต่อไปได้แม้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะล่าช้าแต่ไม่ได้ยกเลิก ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะมีนโยบายกระตุ้นการบริโภค และอาจมีแรงส่งจากการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทย ตลอดจนการฟื้นตัวด้านท่องเที่ยวในระยะยาวที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเนื่องจากเศรษฐกิจโลกแค่ชะลอตัวแต่ไม่ได้เกิดวิกฤต

Back to top button