SCBAM จ่ายปันผลกองทุนหุ้นญี่ปุ่น “SCBNK225D”
SCBAM จ่ายปันผลกองทุนหุ้นญี่ปุ่น "SCBNK225D"
นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส CIO บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมจ่ายเงินปันผลกองทุนหุ้นที่ลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBNK225D) สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2562 – วันที่ 31 มีนาคม 2563 และกำไรสะสม
โดยกองทุนนี้เป็นกองทุน 4 ดาวมอร์นิ่งสตาร์ ประเภท Thailand Fund Japan Equity (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563) กำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 22 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ในอัตรา 0.1384 บาทต่อหน่วย ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 11 รวมจ่ายปันผลทั้งสิ้น 3.3482 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อ 11 ตุลาคม 2556)
ทั้งนี้กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (ชนิดจ่ายเงินปันผล) มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Nikkei 225 Exchange Traded Fund (กองทุนหลัก) เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน บริหารงานโดย Nomura Asset Management Co.,Ltd. จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และลงทุนในสกุลเงินเยน (JPY) มีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารทุนทั้งหมดที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225 และตราสารทุนที่กำลังจะมาเป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225 ในสัดส่วนการลงทุนเดียวกับจำนวนหุ้นในดัชนีนิคเคอิ 225 (Nikkei 225 Index หรือ Nikkei Stock Average) มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าสินทรัพย์ที่ลงทุนในต่างประเทศ
ทั้งนี้ในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นญี่ปุ่นโตขึ้นประมาณร้อยละ 20 เทียบกับตลาดโลกที่ประมาณร้อยละ 24 สะท้อนด้วยดัชนี MSCI All Country Index ซึ่งปัจจัยหลักเกิดจากแรงกดดันตลาดญี่ปุ่นเรื่องการตั้งกำแพงภาษีสินค้าของสหรัฐฯ ต่อประเทศจีนในเฟส 1 อย่างไรก็ตาม สินค้าประเภทรถยนต์และอะไหล่รถยนต์มีความผ่อนคลายลงและมีสัญญาณการเจรจาที่ประนีประนอมมากขึ้น
ประกอบกับอัตราการว่างงานในญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับต่ำและนโยบายการคลังของธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงผ่อนคลายพิเศษอย่างต่อเนื่อง ในช่วงไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้นักลงทุนเกิดความวิตกกังวลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนที่เป็นคู่ค้าสำคัญส่งผลกระทบกับการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะสินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมไฮเทค เช่น Semi-Conductor ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของญี่ปุ่นไปสู่จีน นอกจากนี้ จีนยังเป็นนักท่องเที่ยวสัญชาติหลักที่เข้ามาเที่ยวในญี่ปุ่น (คิดเป็นสัดส่วน 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เข้ามาในปี 2019)
โดยในระยะถัดไป ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงในระยะสั้นถึงกลางจากการระบาดของโรค COVID-19 ที่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศ State of Emergency เพิ่มเติมในเมืองหลักๆ 7 เมือง โดยมีการขอความร่วมมือประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ให้ออกจากเคหะสถานเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวอาจช่วยลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้
นอกจากนี้ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นยังได้อนุมัติ Economic Stimulus Package และออกนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางนโยบายการคลัง ได้แก่ มาตรการป้องกัน COVID-19 มาตรการเยียวยาแรงงาน มาตรการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ มาตรการฟื้นฟู Supply Chain และกองทุนสำรองสำหรับ COVID-19 อีกด้วยซึ่งมาตรการต่างๆ เหล่านี้อาจเป็นตัวช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่นได้