SCBAM เตรียมจ่ายเงินปันผล 6 กองรวด

SCBAM เตรียมจ่ายเงินปันผล 6 กองรวด มองบวกเศรษฐกิจอยู่ในช่วงปรับตัว


นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เตรียมจ่ายเงินปันผลจำนวน 6 กองทุน ประกอบด้วย กองทุน Super Savings (ชนิดเพื่อการออมพิเศษ) จำนวน 3 กองทุน สำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 8 เม.ย. 2563 – 31 มี.ค. 2564 ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นไทยแอคทีฟ เพื่อการออม (ชนิดเพื่อการออมพิเศษ) (SCBEQ-SSFX) ลงทุนในหุ้นไทยเฉลี่ยมากกว่า 80% เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็น High Conviction ของแต่ละโมเดลการลงทุน พร้อมทั้งผสมผสานหลากหลายโมเดลการลงทุนให้เหมาะสมตามสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา โดยกำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.9000 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2563)

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ผสม 70/30 เพื่อการออม (ชนิดเพื่อการออมพิเศษ) (SCB70-SSFX) กระจายการลงทุนในตราสารทุน REITs กองทุนอสังหาริมทรัพย์/โครงสร้างพื้นฐาน ประมาณ 65% -70% และในตราสารหนี้และเงินฝากประมาณ 30% เพื่อช่วยเพิ่มเสถียรภาพและลดความผันผวนของพอร์ต รวมถึงโอกาสได้รับรายได้ระหว่างทาง โดยกำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.6000 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2563)

รวมถึงกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ดัชนี SET เพื่อการออม (ชนิดเพื่อการออมพิเศษ) (SCBSET-SSFX) เน้นลงทุนในตราสารทุนไม่ต่ำกว่า 80% มีกลยุทธ์การลงทุนแบบ Optimized Portfolio เพื่อให้ได้พอร์ตที่มีสภาพคล่องสูงและสามารถสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับดัชนี SET โดยกำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.5000 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2563) ซึ่งทั้ง 3 กองทุนกำหนดจ่ายปันผลพร้อมกันในวันที่ 30 เม.ย. 2564 นี้

นอกจากนี้ ได้กำหนดจ่ายปันผลกองทุนหุ้นต่างประเทศจำนวน 3 กองทุนพร้อมกันในวันที่ 5 พ.ค. 2564 นี้  ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้น LOW VOLATILITY (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBLEQ) สำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2563 –  31 มี.ค. 2564 มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน AB Low Volatility Equity Portfolio (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน (Share Class) I สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

ทั้งนี้ กองทุนหลักจะทำการคัดเลือกหุ้นในพอร์ตที่มีคุณภาพดี มีความผันผวนต่ำ ราคาน่าสนใจ โดยมีการกระจายการลงทุนในหุ้น 70 – 90 ตัว ไปยังหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มไอที การเงิน เฮลท์แคร์ และสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ฯลฯ โดยกำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.4825 บาทต่อหน่วย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจ่ายระหว่างกาลเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ไปแล้วจำนวน 0.2280 บาทต่อหน่วย คงเหลือจ่ายงวดนี้ 0.2545 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 9 รวมจ่ายปันผล 1.7386 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อ 28 เม.ย. 2559)

ส่วนอีก 2 กองทุน สำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2563 –  31 มี.ค. 2564 คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล พร็อพเพอร์ตี้ (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBGPROP) ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน BGF World Real Estate Securities  ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ  (USD) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80  ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เน้นลงทุนใน REITs และหุ้นของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กระจายการลงทุนไปยังหลากหลายกลุ่มธุรกิจ เช่น ที่พักอาศัย สำนักงาน โรงแรม และอาคารพาณิชย์ เป็นต้น โดยกำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.2500 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 9 รวมจ่ายปันผล 1.2632 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อ 4 ต.ค. 2559)

รวมทั้งกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBNK225D) ซึ่งจัดเป็นกองทุน 5 ดาว ประเภท Thailand Fund Japan Equity ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 2564) ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน NEXT FUNDS Nikkei 225 Exchange Traded Fund (กองทุนหลัก) เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน มีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารทุนทั้งหมดที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225 และตราสารทุนที่กำลังจะมาเป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225 ในสัดส่วนการลงทุนเดียวกับจำนวนหุ้นในดัชนีนิคเคอิ 225 (Nikkei 225 Index หรือ Nikkei Stock Average)

โดยกำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.2854 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 13 รวมจ่ายปันผล 3.8641 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งเมื่อ 11 ต.ค. 2556) ทั้งนี้ ทั้งสามกองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ตามความเหมาะสมสำหรับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการลงทุน

ขณะที่ภาพรวมของตลาดหุ้นญี่ปุ่นนั้น ได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังมูลค่า 117 ล้านล้านเยน รวมถึงการได้เข้าซื้อ ETFs และ JPREITs เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับการตลาดการเงิน นอกจากนี้ ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 ยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

ส่วนตลาดหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์นั้น ยังคงมองว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่องจากเศรษฐกิจในหลายประเทศที่เริ่มกลับมาดำเนินได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ Covid-19 นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ เป็นผลดีต่อกระแสเงินสดของตัวบริษัท รวมถึงทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและอัตราเงินปันผลอยู่ในระดับที่สูงขึ้นและมีความน่าสนใจในการลงทุน

สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้น มีการปรับตัวขึ้นจากปัจจัยหลักเกิดจากความคาดหวังเศรษฐกิจภายในประเทศที่จะฟื้นตัวขึ้นภายหลังที่ผู้ติดเชื้อ Covid-19 ในระลอกที่ 2 เริ่มควบคุมได้ ส่งผลให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพคล่องในระบบยังมีอยู่สูงมากจากเงินเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางทั่วโลกที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีแนวโน้มที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าตั้งแต่ช่วงต้น เม.ย. เป็นต้นมา ประเทศไทยได้มีการระบาดของโรค Covid-19 ระลอกที่ 3 เกิดขึ้นและมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงโดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศทั้งกลุ่ม ธนาคาร กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มพาณิชย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คาดว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังภายหลังที่ประเทศไทยได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนมาก

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนทำการลงทุน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรับหนังสือชี้ชวนได้ทุกวันทำการ ได้ที่ SCBAM Call Center โทร.02-777-7777 กด 0 กด 6 หรือผู้สนับสนุนการขายทุกราย สนใจเปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชัน SCBAM Fund Click ได้ที่ https://scbam.link/scbam_fund_click

Back to top button