“ออมสิน” จัดแคมเปญ “กู้ปีนี้ ผ่อนปีหน้า” ดอกเบี้ย 0% นาน 6-9 เดือน
“ธนาคารออมสิน” ออกแคมเปญ “กู้ปีนี้ ผ่อนปีหน้า” ปล่อยสินเชื่อบ้าน-รีไฟแนนซ์ ด้วยเงื่อนไขพิเศษที่ยังไม่ต้องผ่อนปีนี้ ให้เริ่มผ่อนปีหน้า โดยไม่ต้องจ่ายต้น ดอกเบี้ย 0% นาน 6-9 เดือน ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 2.50%
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างและรุนแรง หลายคนตกอยู่ในสภาวะขาดรายได้ ในขณะที่ภาระที่แบกรับอยู่ยังไม่หมดไป เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการผ่อนบ้านและหนี้สินต่าง ๆ ที่อัตราดอกเบี้ยสูง และช่วยเหลือคนไทยให้ก้าวผ่านความยากลำบากนี้ไปด้วยกัน ธนาคารออมสินธนาคารเพื่อสังคม จึงออกแคมเปญสินเชื่อบ้าน “กู้ปีนี้ ผ่อนปีหน้า” ด้วยเงื่อนไขพิเศษที่ยังไม่ต้องผ่อนปีนี้ ให้เริ่มผ่อนปีหน้าและผ่อนต่อเดือนที่ต่ำมาก ทำให้มีเงินสดไว้ใช้จ่ายที่จำเป็น หรือนำไปปิดบัญชีเงินกู้เพื่อปลดล็อกหนี้ต่างๆ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อกู้สินเชื่อบ้านกับธนาคารออมสิน
สำหรับแคมเปญ “กู้ปีนี้ ผ่อนปีหน้า” ประกอบด้วย สินเชื่อบ้าน เพื่อไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่น หรือ รีไฟแนนซ์ มีให้เลือกทั้งแบบปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 0% นาน 9 เดือน โดยในเดือนที่ 10-12 ผ่อนล้านละ 2,000 บาท และแบบปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน โดยในเดือนที่ 7-12 ผ่อนล้านละ 1,500 บาท ซึ่งทั้ง 2 แบบ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี เท่ากับ 2.50% ต่อปี โดยลูกค้าที่รีไฟแนนซ์จะได้สิทธิในการกู้เพิ่มเติม เพื่ออุปโภคบริโภคในโอกาสนี้ด้วย ให้กู้สูงสุด 5 ล้านบาท
โดยมีทั้งเงินกู้ระยะยาว (LT) ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก จากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษเริ่มต้นที่ 3.90% ต่อปี และวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี (OD) อัตราดอกเบี้ยปีแรก 3.75% หลังจากนั้นคิด MOR+1.00% ต่อปี (MOR ธนาคารออมสินปัจจุบัน = 5.995%) สินเชื่อบ้าน เพื่อซื้อ สร้าง หรือต่อเติมซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 0% 6 เดือนเช่นกัน ซึ่งในเดือนที่ 7-12 ผ่อนล้านละ 1,500 บาทเท่านั้น โดยธนาคารไม่คิดค่าจัดทำนิติกรรมสัญญาและค่าบริการสินเชื่อแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ลูกค้าที่กู้สินเชื่อบ้านและรีไฟแนนซ์ดังกล่าว จะต้องได้รับอนุมัติและจัดทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ยกเว้นโปรแกรมรีไฟแนนซ์ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 9 เดือน ต้องได้รับอนุมัติและจัดทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 ตุลาคม 2564