ธอส. ช่วยลูกค้าประสบอุทกภัย “พักหนี้-ลดดอกเบี้ย” วงเงินรวม 100 ลบ.
ธอส. กำหนด 7 มาตรการสำคัญ “พักชำระหนี้-ลดดอกเบี้ย” ช่วยลูกค้า ธอส. ผู้ประสบอุทกภัย โดยกำหนดกรอบวงเงินทั้งสิ้น 100 ล้านบาท ทั้งนี้ ยกเว้นผู้ที่ทำกรมธรรม์คุ้มครองภัยธรรมชาติ และผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้ทั้งหลัง” จะได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า เหตุการณ์น้ำท่วมเฉียบพลันบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยานั้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างและที่ทำกินของประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงให้ความช่วยเหลือโดยจัดทำ “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปีพ.ศ. 2564” โดยกำหนดกรอบวงเงินทั้งสิ้น 100 ล้านบาท ทั้งนี้ จะพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีมีหลักประกันอาทิ ที่อยู่อาศัยได้จดจำนองกับธนาคารของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระเดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 3.65% ต่อปี เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย 4.15% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 5.15% ต่อปี และปีที่ 4 จนตลอดอายุสัญญาเงินกู้ ส่วนกรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -0.50% ต่อปี ทั้งนี้ กรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ของธอส. อยู่ที่ 6.150% ต่อปี)
มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 1 ปี ปีที่ 2 – 3 อัตราดอกเบี้ย MRR -3.15% ต่อปี (ในปัจจุบันเท่ากับ 3.00% ต่อปี) และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -0.50% ต่อปี พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้องให้ทั้งหมด ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้ทุกกรณีหลังจากนิติกรรมแล้วในรายการที่เกี่ยวข้อง
มาตรการที่ 3 สำหรับลูกหนี้ NPL ที่มีหลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
มาตรการที่ 4 สำหรับลูกหนี้ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
มาตรการที่ 5 สำหรับลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสามารถผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ
มาตรการที่ 6 สำหรับกรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง และไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น
มาตรการที่ 7 สำหรับกรณีพิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย จะได้รับการคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงอุทกภัยหรือวาตภัยจะพิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันสามารถยื่นเอกสารแจ้งความเสียหาย และคุ้มครองค่าเสียหายจริงจากหลักฐานภาพถ่าย รวมภัยธรรมชาติทุกประเภทไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงจากหลักฐานภาพถ่าย แต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี