SCBAM ดัน AUM ปีนี้ 2 ล้านลบ. รับธุรกิจกองทุนโต-ลุยออก “ตราสารหนี้” ใหม่
SCBAM วางเป้าดัน AUM ปีนี้แตะ 2 ล้านล้านบาท ลุยออกตราสารหนี้ใหม่ขยายฐานลูกค้า และคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีจากดอกเบี้ยที่สูง
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) เปิดเผยว่า ในปีนี้ SCBAM คาดการณ์ว่ามีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการ (AUM) เพิ่มขึ้นเป็น 1,900,000-2,000,000 ล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 66 AUM กว่า 1.8 ล้านล้านบาท โดยเป็นการเติบโตจากธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund) ราว 50,000-100,000 ล้านบาท จากปีก่อนมีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 960,000 ล้านบาท และจากธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) เติบโตอีก 50,000-100,000 ล้านบาท จากปี 66 มีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 650,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 66 ที่ผ่านมา SCBAM มีส่วนแบ่งการตลาด 21% ถือเป็นเป็นอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรม โดยเพิ่มขึ้น 5% เทียบกับปีก่อน โดยธุรกิจกองทุนรวมมีส่วนแบ่งตลาด 19% กองทุนส่วนบุคคล มีส่วนแบ่งตลาด 30% และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีมูลค่าทรัพย์สิน 200,000 ล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาด 14%
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ปีนี้สภาวะตลาดเอื้อต่อการลงทุนตราสารหนี้ จึงมองว่าเป็นปีที่จะออกกองทุนตราสารหนี้ได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว คาดว่าจะให้ผลตอบแทนดีจากอัตราดอกเบี้ยสูง น่าจะตอบรับความต้องการของนักลงทุนโดยไม่ต้องเสี่ยงมากเกินไป โดยเชื่อว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยเร็ว แต่จะค่อยๆ ทยอยปรับลดลง เพราะเงินเฟ้อยังไม่ลดลงมากนัก แต่หากในปี 67 ไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ตราสารหนี้ก็ยังนับว่าเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุน
สำหรับในประเทศไทย SCBAM คาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง ซึ่งปัจจุบันกองทุนตราสารหนี้ในไทยมีผลตอบแทนเฉลี่ย 2% ส่วนกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว ให้ผลตอบแทน 2.7% ส่วนกองทุนลงทุนหุ้นต่างประเทศ จะไม่มีการออกกองใหม่เพราะมีครบทุกธีมการลงทุนแล้ว
นอกจากนี้ จากความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ SCBAM มีความเห็นตรงกันว่าในปีนี้ บริษัทจะขยายฐานลูกค้าโดยอาศัยกองทุนตราสารหนี้เป็นกลยุทธ์หลัก เพราะตั้งแต่ช่วงเกิดโควิด SCBAM แทบไม่ได้ขยายฐานลูกค้าเลย โดยปัจจุบัน SCBAM มีฐานลูกค้าราว 6-7 แสนราย อย่างไรก็ดี SCBAM ได้ใช้ช่องทางดิจิทัลในการขยายการขายกองทุนผ่านแอปพลิเคชั่น ที่มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากกว่า 3-4 พันล้านบาท
นายณรงค์ชัย ยังกล่าวว่า SCBAM จะรุกขยายส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มกองทุน SSF (Super Saving Funds) หรือกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว ซึ่งปัจจุบัน SCBAM มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 หรือ 2 โดยกองทุน SSF จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ที่นำไปหักลดหย่อนภาษี ซึ่งเหมาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะระยะเวลาถือเพียง 10 ปี และมีเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่มาก
สำหรับกองทุนที่เป็นทางเลือกการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล นายณรงค์ชัย เห็นว่า การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทับผ่านกองทุนรวมถือว่ามีความมั่นคงสูง เพราะมีกระบวนการจัดเก็บสินทรัพย์อย่างปลอดภัยกว่านักลงทุนส่วนบุคคล โดยสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง บิทคอยน์ มองว่ามีความน่าสนใจ เพราะถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลหลักๆ แต่ในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยังอนุญาตให้เพียงกองทุนที่เสนอขายให้เฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ (UI) และกองทุนส่วนบุคคล ลงทุนได้เท่านั้น
อย่างไรก็ดี มองว่าสำนักงานก.ล.ต.ยึดหลักค่อยเป็นค่อยไป การอนุมัติให้กองทุนรวมลงทุนก็อาจจะรอจังหวะเวลา และหากสำนักงาน ก.ล.ต.อนุญาต SCBAM ก็พร้อมออกกองทุนลงทุนบิทคอยน์เสนอขายให้นักลงทุนทั่วไป เพราะเห็นว่า บิทคอยน์ เป็นสินทรัพย์ทางเลือกหนึ่ง เช่นเดียวกับ ทองคำ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับหุ้น โดยเห็นว่าสัดส่วนการลงทุนน่าจะไม่เกิน 5-7%
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ปีนี้ SCBAM มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคบริการที่ยังคงเติบโตและภาคการผลิตที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว รวมถึงอัตราเงินเฟ้อโลกมีสัญญาณชะลอตัวปรับลดลงใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศกำหนด กลยุทธ์การลงทุนจึงเน้นการจับจังหวะทิศทางตลาดทุนเป็นหลัก เพื่อหาสินทรัพย์ลงทุนที่ได้ประโยชน์และสามารถมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ในแต่ละช่วงจังหวะเวลา
พร้อมได้นำเสนอกองทุนใหม่ SCBDBOND และ SCBMONEY ที่เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ เพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนในช่วงจังหวะการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ย
นอกจากนี้ จากที่ SCBAM เป็นผู้บุกเบิกนำ Machine Learning มาช่วยในการวิเคราะห์ คัดเลือกหลักทรัพย์ และสร้างพอร์ตลงทุน มาอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ SCBAM พร้อมต่อยอดความสำเร็จเปิดตัวกองทุนใหม่ SCBLOWBETA ในกลุ่มกองทุน Machine Learning จากผลการดำเนินงานย้อนหลังที่กองทุนกลุ่มนี้สามารถทำได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนอื่นในกลยุทธ์เดียวกัน อีกทั้งกลยุทธ์การลงทุนโดยใช้ Machine Learning มีจุดเด่นในด้านการวิเคราะห์ ตัดสินใจอย่างเป็นระบบนี้เองได้รับความสนใจในกลุ่มนักลงทุนสถาบันจัดตั้งเป็นกองทุนส่วนบุคคลด้วย
สำหรับหุ้นไทยในปีนี้ นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 1-2 ปี 67 จะยังเห็นตัวเลขงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนไม่ค่อยดี ประกอบกับความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทยลดลงหลังจากเกิดกรณีทุจริตของ บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) และกรณีการสร้างราคาหุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายของภาครัฐที่เคยเป็นตัวดึงตลาดจะกลับมา และคาดว่าในปลายปี 67 หุ้นไทยน่าจะฟื้นตัวได้ชัดเจน
ด้านนายภคสุนาท จิดมั่นชัยธรรม Executive Director ฝ่ายการลงทุนผ่านกองทุนต่างประเทศ SCBAM ให้เป้าดัชนี SET ปีนี้ทีระดับ 1,550 จุด มองว่าหุ้นไทยไม่มีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนเหมือนในตลาดหุ้นต่างประเทศ
ขณะที่ตลาดหุ้นต่างประเทศในฝั่งประเทศพัฒนา (DM) ในปีนี้ก็ยังสดใส โดยให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นสหรัฐมากถึง 75% ยุโรป 15% ตลาดญี่ปุ่น 5% และส่วนตลาดเกิดใหม่ (EM) ให้น้ำหนัก 5% โดยปีนี้คาดว่าตลาดหุ้นซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยงจะกลับมาเติบโตได้ต่อจากการปรับลดดอกเบี้ย ส่วนตลาดหุ้นจีน ยังไม่แนะนำลงทุนตราบใดที่รัฐบาลจีนยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนก็ยังเป็นตัวถ่วงตลาดอยู่