AIRA ผนึก “กองทุน-ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว” แนะช่องลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น
AIRA จับมือ กองทุน-ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว จัดสัมมนานักลงทุนกลุ่ม High Net Worth ส่งสัญญาณรุกตลาดหุ้น Nikkei รับเศรษฐกิจฟื้น ค่าเงินเยนอ่อนตัว และผลประกอบการบริษัทดีขึ้น
นางนลินี งามเศรษฐมาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ AIRA
กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์โตเกียว และกลุ่มบริษัทไอร่า เปิดเผยว่า การที่ทาง TSE เลือกกลุ่มไอร่า เป็น Partner แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณอย่างถูกต้อง โดยบริษัทฯ ได้รับการประเมินให้เป็นบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีการกำกับดูแลกิจการในเกณฑ์ดีเลิศ จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) อย่างต่อเนื่องถึง 5 ปีติดต่อกัน ทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติโดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น สังเกตได้จากหลายบริษัทชั้นนำที่เข้าร่วมทุนกับบริษัทฯ เช่น บริษัท AIFUL Corporation, Kenedix Asia Pte. Ltd., NEC Capital Solutions Limited (NECAP) และ Sumitomo Mitsui Trust Bank (Thai)
ด้าน นายฮิโรกิ คาวาอิ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสฝ่ายหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (TSE) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกมากขึ้น ส่งผลให้ดัชนี Nikkei 225 ได้เพิ่มขึ้น 13% (ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2567) นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาและได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 34 ปี ที่ 40,914 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนให้เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าตลาดหุ้นโตเกียวเพิ่มขึ้น มาจากการลงทุนของกลุ่มนักลงทุนสถาบันชั้นนำจากต่างประเทศ เนื่องจากการคาดการที่ดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น และประสิทธิภาพการใช้เงินทุนของบริษัทจดทะเบียนสร้างโอกาสการเติบโตของผลประกอบการ ส่งผลให้ยอดการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศเพิ่มขึ้นที่ 49.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนพฤษภาคม 2567
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยทั่วไป จากหน่วยงานสถาบันการเงินของญี่ปุ่น โดยได้ขยายโครงการบัญชีออมทรัพย์เพื่อการลงทุนนิปปอนปลอดภาษี (NISA) ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา วางเป้าหมายการลงทุนรวม 56 ล้านล้านเยน ภายในปี 2570 จาก 35 ล้านล้านเยน ในปี 2566 และ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 การซื้อผ่านบัญชี NISA ใหม่ มีมูลค่ารวมมากกว่า 6.6 ล้านล้านเยน แบ่งเป็นการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นเกือบ 3 ล้านล้านเยนผ่านบัญชี NISA
ขณะที่นายคาซุนากะ ซาโซ ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของแผนกการลงทุนแบบแอ็คทีฟ Sumitomo Mitsui Trust Asset Management กล่าวเสริมว่า ดัชนี Nikkei 225 ยังคงมีศักยภาพที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและแผนส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล
สำหรับอัตราส่วนราคาต่อกำไรของดัชนี TOPIX ของญี่ปุ่นอยู่ที่ 15.2 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 เทียบกับ 21.2 เท่าของดัชนี S&P 500 และ 13.6 เท่าของดัชนี STOXX Europe 600 ซึ่งปัจจัยหนุนที่ทำให้ดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างในรอบหลายปี รวมทั้งการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นประมาณ 35.1 ล้านคน ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 25.1 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว และมีการเข้ามาลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเซมิคอนดักเตอร์ต่างชาติ เช่น Intel, Samsung และ TSMC เพิ่มขึ้นอย่างมากในญี่ปุ่น
ด้านนายนาโอฮิเดะ อูเนะ ผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนอาวุโสของ Investment Lab กล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นตลาดหุ้นที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดตั้งแต่ปี 2566 โดยได้รับการสนับสนุนจากหุ้นขนาดใหญ่ในภาคการเงิน ยานยนต์ อุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์ และ B2B จึงทำให้เชื่อว่า ตลาดหุ้นโตเกียวมีศักยภาพที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้อีก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับปรุงการกำกับดูแลกิจการและอัตรากำไรอย่างช้าๆ แต่มั่นคง รวมถึงแนวโน้มที่เป็นบวกของนักลงทุนในประเทศที่ยอมรับความเสี่ยงผ่านโปรแกรม NISA
โดยนายยูกิ อิชิดะ ผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มของ YCP Holdings (Global) Limited กล่าวแนะนำนักลงทุนเพิ่มเติมว่า ควรพิจารณาเลือกลงทุนในหุ้นที่มีพื้นที่ดีเป็นส่วนสำคัญ ภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (DX) การควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (M&A) โลกาภิวัตน์โดยเฉพาะในเอเชีย และการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (GX) ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทต่าง ๆ กำลังส่งเสริม DX โดยตลาด DX ทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตถึง 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2569 โดยการทำ M&A จะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับในการสร้างโอกาสการเติบโตของผลการดำเนินงานของบริษัทญี่ปุ่นรายใหญ่ที่เผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานและเงินเยนที่อ่อนค่า บริษัทต่าง ๆ ได้ใช้เงินสดจากการขายทรัพย์สินเพื่อการลงทุนเชิงกลยุทธ์ เช่น การเสริมสร้างธุรกิจหลักหรือการสำรวจธุรกิจใหม่ ๆ
ในขณะเดียวกันการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศจีนได้ลดลงประมาณ 680 พันล้านเยน ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563-2567) แต่กลับมีการลงทุนในอาเซียนและอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทญี่ปุ่นมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนแปลงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนความพยายามเหล่านี้ผ่านนโยบายที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 46% ภายในปี 2573