EXIM BANK ปรับผังโครงสร้างใหม่เพิ่มฝ่ายกลยุทธ์การตลาด-เน้นเชิงรุก

EXIM BANK ปรับโครงสร้างใหม่เพิ่มฝ่ายกลยุทธ์การตลาด เน้นเชิงรุกมากขึ้น


นายเขมทัศน์ สายเชื้อ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในปี 2559 EXIM BANK จะมีบทบาทในเชิงรุกทางการตลาดมากขึ้น โดยปรับโครงสร้างองค์กรให้มีฝ่ายกลยุทธ์การตลาด ดูแลงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกำหนดกลยุทธ์การตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงบริการทางการเงินของ EXIM BANK ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจส่งออกหรือขยายธุรกิจส่งออกอย่างมั่นใจ

โดยใช้สินเชื่อและบริการประกันการส่งออกและการลงทุนของ EXIM BANK เงินทุนเพื่อวิจัยพัฒนานวัตกรรม เงินทุนเพื่อค้าขายชายแดนหรือเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดชายแดน รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ที่รัฐบาลส่งเสริมการลงทุน ตลอดจน EXIM BANK จะจัดตั้งหน่วยงานให้ความรู้ทางการเงินแก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการบริหารจัดการธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและแข่งขันได้ในระยะยาว โดยชูจุดเด่นของแบรนด์ไทยในตลาดโลก

สำหรับผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ในปี 2558 มีกำไรสุทธิ 1,520 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 1,516 ล้านบาทในปีก่อน โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 มีเงินให้สินเชื่อคงค้างจำนวน 73,540 ล้านบาท เป็นสินเชื่อใหม่ที่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในระหว่างปีจำนวน 20,307 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (NPLs Ratio) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ 5.43 เป็นจำนวน 3,993 ล้านบาท รวมทั้งมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 5,654 ล้านบาท โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 2,890 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกันร้อยละ 195.65

ทั้งนี้ธุรกิจของ EXIM BANK ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักคือ สินเชื่อและรับประกัน การสนับสนุนสินเชื่อของ EXIM BANK แก่ผู้ประกอบการไทยในปี 2558 ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 136,634 ล้านบาท และเงินให้สินเชื่อคงค้างจำนวน 73,540 ล้านบาท ด้านรับประกันมีส่วนทำให้เกิดปริมาณธุรกิจส่งออกและลงทุนรวม 64,386 ล้านบาท โดย 10,142 ล้านบาทเป็นธุรกิจส่งออกของ SMEs หรือร้อยละ15.75 ของธุรกิจรับประกันรวม ทั้งนี้ มียอดรับประกันคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 จำนวน 15,497 ล้านบาท

ส่วนการสนับสนุนผู้ส่งออก SMEs เป็นนโยบายหนึ่งที่สำคัญของ EXIM BANK โดยธนาคารได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีลูกค้า SMEs เพิ่มมากขึ้น โดยลูกค้า SMEs คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 87 ของลูกค้าทั้งหมด และมีการอนุมัติวงเงินเพิ่มใหม่ในปีเท่ากับ 32,009 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินอนุมัติสะสมที่ลูกค้าสามารถเบิกใช้สินเชื่อได้ 73,861 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจทั้งปีของ SMEs เท่ากับ 81,767 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี จำนวน 29,183 ล้านบาท

ด้านการสนับสนุนตามยุทธศาสตร์ของประเทศและนโยบายรัฐ เช่น สนับสนุนโครงการพัฒนาพลังงานทดแทน สนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของประเทศ และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง และสนับสนุนผู้ประกอบการพาณิชยนาวีและโลจิสติกส์อื่นๆ EXIM BANK มีการอนุมัติวงเงินสินเชื่อเพื่อพัฒนาประเทศเพิ่มใหม่ในปีจำนวน 11,217 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินอนุมัติสะสมจำนวน 46,411 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 เท่ากับ 27,565 ล้านบาท

ขณะที่การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศโดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ EXIM BANK ที่จะเป็นธนาคารที่สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่เวทีโลก โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ปัจจุบัน EXIM BANK มีวงเงินอนุมัติสะสมของสินเชื่อเพื่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศ AEC รวม 87,099 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินอนุมัติเพิ่มใหม่ในปีเท่ากับ 25,589 ล้านบาท

ขณะเดียวกันเงินให้สินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 เท่ากับ 41,628 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังได้ให้การสนับสนุนด้านการป้องกันความเสี่ยงเพื่อผลักดันให้การค้าการลงทุนระหว่างประเทศกับ AEC ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีวงเงินป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการอยู่ที่ 26,551 ล้านบาท

Back to top button