KTAM โชว์ยิลด์หุ้น Mid&Small นับแต่ต้นปีโต 25%เฟ้นลงทุนบริษัทศักยภาพเติบโตสูงแม้ตลาดผันผวน
KTAM โชว์ยิลด์หุ้น Mid&Small นับแต่ต้นปีโต 25% เฟ้นลงทุนบริษัทศักยภาพเติบโตสูงแม้ตลาดผันผวน
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM เปิดเผยว่า กองทุนเปิดกรุงไทยหุ้น Mid-Small Cap (KTMSEQ) สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ตั้งปีที่ผ่านมา โดยปรับตัวขึ้นประมาณ 25.64 % ในขณะที่ SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 18.33 % ซึ่งเป็นกองทุนที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่ในอันดับต้นๆของอุตสาหกรรมจากการจัดอันดับของ Morningstar ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2559 กองทุนมีนโยบายลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจ โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
โดยกองทุน KTMSEQ บริษัทใช้กลยุทธ์ในการคัดสรรหลักทรัพย์ที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงตามปัจจัยพื้นฐาน มีศักยภาพในการเติบโตที่มั่นคงและสามารถสร้างอัตราการเติบโตของกำไรได้ ถึงแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจมีความผันผวน โดยร่วมมือกับฝ่ายวิจัยของบริษัทอย่างใกล้ชิด เพื่อเฟ้นหาหลักทรัพย์ที่มีศักยภาพในการสร้างผลกำไรให้กับกองทุน
ถึงแม้ว่าเป็นช่วงที่ภาวะการลงทุนจะมีความผันผวนสูง และเป็นโอกาสดีที่จะเข้าลงทุนในช่วงที่ตลาดน่าจะเริ่มมีการปรับฐานจากหุ้นขนาดใหญ่ อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากหลักทรัพย์ในกลุ่มที่กองทุนได้มีการลงทุนอยู่ ยังคงมีศักยภาพในการเจริญเติบโตของผลประกอบการ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จากทางภาครัฐ สภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และสภาพคล่องที่สูงทั่วโลกยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง การที่หลักทรัพย์ในกลุ่ม Mid-Small cap ยังคงมีค่า Forward P/E อยู่ในระดับที่ไม่แพง ในขณะที่ P/E ของตลาดอยู่ใกล้เคียงเป้าหมายของปีนี้ จึงถือว่ายังเป็นโอกาสดีที่จะเข้าลงทุนในกองทุนดังกล่าว
ทั้งนี้ นักลงทุนที่ต้องการจะพักเงินจากการลงทุน อาจจะพิจารณาลงทุนในกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 107 (KTFF107) ซึ่งอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่าย ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2559 อายุ 3 เดือน เน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ประเภทเงินฝากประจำ Bank of China ( Macau), China Construction Bank (Asia) Corp.Ltd, Agricultural Bank of CHINA, Wing Lung Bank Ltd. และตั๋วเงินคลังประเทศญี่ปุ่น ผลตอบแทนประมาณ 1.50% ต่อปี โดยบุคคลธรรมดาไม่เสียภาษี
ขณะที่อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุตามแรงขายของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลก การประชุมธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FOMC) เฟดประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25-0.50% ตามคาด แต่ไม่ระบุแน่ชัดเกี่ยวกับระยะเวลาการขึ้นดอกเบี้ย ภาพรวมตลาดจึงดูคลายความกังวลเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม ตลาดผิดหวังกับนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งไม่ได้เพิ่มวงเงิน QE ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้เกิดใหม่เผชิญปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติจะขายตราสารหนี้มากขึ้น โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติเป็นยอดขายสุทธิจำนวน 6,320 ล้านบาท สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ผลกระทบของ Brexit ต่อตลาดการเงินทั่วโลก ความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทิศทางของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศ และการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ
ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง 4 bps. มาอยู่ที่ 0.67% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวลดลง 10 bps. มาอยู่ที่ 1.03% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวลดลง 11 bps.มาอยู่ที่ 1.46% ต่อปี