บลจ.ไทยพาณิชย์ ปันผล 5 กองทุนกำหนดจ่ายพร้อมกันวันที่ 22 ก.ย.นี้

บลจ.ไทยพาณิชย์ จ่ายปันผล 5 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ สมาร์ทแพลน 2, กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ สมาร์ทแพลน 3, กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ สมาร์ทแพลน 4, กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นอินเดีย และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ กำหนดจ่ายพร้อมกันวันที่ 22 ก.ย.นี้


นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจ่ายเงินปันผลพร้อมกันจำนวน 5 กองทุน ในวันที่ 22 กันยายน 2559 นี้ ประกอบด้วย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ สมาร์ทแพลน 2,3 และ 4 สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2558 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2559

โดยทั้ง 3 กองทุนเป็นกองทุนรวมผสม มีการจัดพอร์ตการลงทุนในรูปแบบ Risk Target Fund ตามระดับความเสี่ยง ส่วนอีก 2 กองทุนเป็นกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นอินเดีย และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2559 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2559

สำหรับกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ สมาร์ทแพลน 2 จ่ายปันผลในอัตรา 0.4300 บาทต่อหน่วย ที่ผ่านมาได้จ่ายปันผลระหว่างกาลเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2559 ไปแล้ว 0.1500 บาท เหลือจ่ายงวดนี้ 0.2800 บาทต่อหน่วย เป็นครั้งที่ 4 (นับจากจัดตั้งเมื่อ 26 ก.ย.2555) รวมจ่ายปันผลแล้วทั้งสิ้น 0.8300 บาทต่อหน่วย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์สมาร์ทแพลน 3 จ่ายปันผลในอัตรา 0.5200 บาทต่อหน่วย เป็นครั้งที่ 3 (นับจากจัดตั้งเมื่อ 26 ก.ย.2555) รวมจ่ายปันผลแล้ว 0.9203 บาทต่อหน่วย ส่วนกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ สมาร์ทแพลน 4 จ่ายปันผลในอัตรา 0.6200 บาทต่อหน่วย เป็นครั้งที่ 3 (นับจากจัดตั้งเมื่อ 26 ก.ย.2555) รวมจ่ายปันผลแล้ว 1.0200 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ สมาร์ทแพลน 2,3 และ 4 (SCBSMART 2,3,4) จะมีการบริหารความเสี่ยงโดยควบคุมมูลค่าความเสี่ยงให้อยู่ในกรอบที่กำหนดประมาณ -5%,-10% และ-15% ต่อปีตามลำดับ มีนโยบายลงทุนในตราสารที่หลากหลาย อาทิ ตราสารหนี้ หุ้น เงินฝาก อสังหาริมทรัพย์ฯลฯ โดยกองทุนสมาร์ทแพลน 2 จะลงทุนในหุ้นไม่เกินร้อยละ 25 และไม่มีการลงทุนในต่างประเทศเหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย กองทุนสมาร์ทแพลน 3 จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไม่เกินร้อยละ 34

รวมทั้งยังมีการลงทุนในต่างประเทศไม่เกินร้อยละ 35 เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง ขณะที่กองทุนสมาร์ทแพลน 4 จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไม่เกินร้อยละ 43 รวมทั้งลงทุนในต่างประเทศไม่เกินร้อยละ 36 เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูง

โดยผลการดำเนินงานโดยรวมของทั้ง 3 กองทุนดังกล่าวอยู่ในระดับน่าพอใจเมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน โดยย้อนหลัง 1 ปี (ณ วันที่ 9 ก.ย.2559) สมาร์ทแพลน 2 อยู่ที่ 4.27% ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 2.16% สมาร์ทแพลน 3 อยู่ที่ 5.27% โดยเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 4.68% และสมาร์ทแพลน 4 อยู่ที่ 5.46% เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 5.26%

สำหรับกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นอินเดีย (SCBINDIA) จ่ายปันผลครั้งแรกในอัตรา 0.0300 บาทต่อหน่วย โดยมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 6 เดือน (ณ วันที่ 9 ก.ย. 2559) อยู่ที่ 18.07% ซึ่งกองทุนนี้มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของ iShares India 50 ETF ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (NASDAQ)บริหารงานภายใต้ความดูแลของ BlackRock และมีนโยบายลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของ CNX NIFTY Index เพื่อให้ผลการดำเนินงานของกองทุนก่อนหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับผลตอบแทนของ CNX NIFTY Index TR USD

ส่วนกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ (SCBEMBOND) จ่ายปันผลครั้งแรกในอัตรา 0.1000 บาทต่อหน่วย โดยมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 6 เดือน (ณ วันที่ 9 ก.ย.2559) อยู่ที่ 10.08% ซึ่งกองนี้มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Capital Group Emerging Markets Local Currency Debt Fund (LUX) (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน (share class) “Z share class” ใน class ที่ลงทุนด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศลักเซมเบอร์ก (Luxembourg) และอยู่ภายใต้ UCITS บริหารงานภายใต้ความดูแลของ Capital Group กองทุนหลักมีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ภาคเอกชนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่

ทั้งนี้ภาพรวมการลงทุนในช่วงนี้ว่า ตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ยังมีความน่าสนใจจากสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และหากมองไปที่ตลาดหุ้นอินเดียในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้จะปรับตัวลดลงจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินธนาคารกลางทั่วโลก แต่แนวโน้มการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ประกอบกับตัวเลขภาคการผลิตของอินเดียยังคงขยายตัวต่อเนื่องรวมทั้งอัตราเงินเฟ้อผู้ผลิตที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจะสนับสนุนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในระยะต่อไป อย่างไรก็ตามสภาวะโดยรวมน่าจะมีความผันผวนมากขึ้น การลงทุนจึงยังต้องใช้ความอย่างระมัดระวังเช่นกัน

 

Back to top button