บลจ.กรุงไทย ออกกองทุนตราสารหนี้ตปท.คาดผลตอบแทน 1.80% ขาย 8-15 พ.ย.
บลจ.กรุงไทย ออกกองทุนตราสารหนี้ตปท. คาดผลตอบแทน 1.80% ขาย 8-15 พ.ย.
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย หรือ บลจ.กรุงไทย เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 100(KTFF100) ตั้งแต่วันที่ 8-15 พ.ย.59 อายุ 1 ปี เน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ประเภทเงินฝากประจำ Emirates NBD PJSC ประมาณอัตราผลตอบแทนของตราสาร (ต่อปี) 2.10% , Commercial Bank of Qatar Q.S.C ประมาณอัตราผลตอบแทนของตราสาร (ต่อปี) 1.90% , Abu Dhabi Commercial Bank ประมาณอัตราผลตอบแทนของตราสาร (ต่อปี ) 1.95% , Ahli Bank QSC ประมาณอัตราผลตอบแทนของตราสาร (ต่อปี) 2.20% และ First Gulf Bank PJSC ประมาณอัตราผลตอบแทนของตราสาร(ต่อปี) 1.90% ในสัดส่วนสถาบันการเงินละ 20% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน มีค่าใช้จ่ายของกองทุน(ต่อปี) 0.21% ประมาณผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน 1.80% ต่อปี กองทุนมีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน
โดยแนวโน้มอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศ มีการปรับตัวลดลงเกือบทุกช่วงอายุ ยกเว้นรุ่นอายุมากกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากแรงซื้อที่ของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ หลังจากตลาดกังวลกับความไม่แน่นอนในการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้สหรัฐฯ รุ่นอายุ 10 ปีปรับตัวลดลงถึง 7 bps
สำหรับอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยรุ่นระยะยาวที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้นเป็นผลมาจากผลการประมูลพันธบัตรภาครัฐรุ่นอายุ 20 ปี (LB366A) ที่ออกมาไม่ดีนัก โดยนักลงทุนได้เข้าประมูลเพียง 0.79 เท่าของปริมาณที่ออกทั้งหมด 12,000 พันล้าน โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติเป็นยอดซื้อสุทธิจำนวน 13,874 ล้านบาท โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวลดลง 2 bps.มาอยู่ที่ 1.59% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวลดลง 3 bps. มาอยู่ที่ 1.86% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวลดลง 2 bps.มาอยู่ที่ 2.15% ต่อปี
สำหรับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลงเกือบทุกช่วงอายุตามความกังวลกับความไม่แน่นอนในการเลือกตั้งสหรัฐ โดยเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25-0.50% ตามคาดในการประชุม FOMC โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวลดลง 6 bps. มาอยู่ที่ 0.80% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวลดลง 9 bps. มาอยู่ที่ 1.24% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวลดลง 7 bps.มาอยู่ที่ 1.79% ต่อปี
ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามในประเทศ จะเป็นความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนตุลาคม แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของFed ทิศทางของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศ การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ และผลกระทบของ Brexit ต่อ EU และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ