ทิสโก้ มองจังหวะตลาดผันผวนแนะลงทุน ตลาดหุ้นนอก ชี้ “จีน-เยอรมัน-ญี่ปุ่น”เด่น
ทิสโก้ตอกย้ำภาพผู้นำการลงทุนตลาดต่างประเทศต่อเนื่อง เปิดกลยุทธ์การลงทุนครึ่งปีหลัง ชี้ตลาดหุ้นนอกตอบโจทย์ เหมาะเพิ่มพอร์ตลงทุนเปิดโอกาสรับผลตอบแทน ยังเดินหน้าเชียร์ลงทุน 3 ตลาดหลัก “จีน-เยอรมัน-ญี่ปุ่น” ชี้เศรษฐกิจแกร่งหนุนตลาดหุ้นเติบโตโดดเด่น ด้าน บลจ.ทิสโก้ เผยครึ่งปีหลังลุยออกกองทุนหุ้นนอกต่อเนื่อง เน้นออกกอง “ทริกเกอร์ฟันด์ – สตาร์พลัส” ตอบโจทย์การลงทุนในจังหวะเหมาะ มั่นใจกระแสตอบรับดี หลังผลงานทริกเกอร์ฟันด์เข้าเป้าโดดเด่น แนะลงทุนครึ่งปีหลัง ยังเชียร์ “จีน-เยอรมัน-ญี่ปุ่น” ต่อเนื่อง
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า กลยุทธ์การลงทุนในครึ่งหลังของปี 2558 ทิสโก้ยังคงให้น้ำหนักกับการกระจายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศเป็นหลัก เพราะมองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ที่ยังคงได้รับปัจจัยกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยตลาดที่แนะนำให้เน้นลงทุน คือ จีน เยอรมัน และญี่ปุ่น
โดย ตลาดหุ้นจีน ยังคงแนะนำOverweight ในตลาดหุ้นจีน H-Share เนื่องจาก Valuation ที่ยังถูก โดย Valuation กลับมาซื้อขายที่กรอบล่างของการซื้อขายในอดีตอีกครั้ง โดยค่า P/E ปัจจุบันอยู่ที่ 8 เท่า ใกล้เคียงกับระดับ -1 S.D.และ PBV ที่ 1 เท่าซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2008 และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรวมถึงความคืบหน้าของการปฏิรูปที่มีแนวโน้มชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยมาตรการผ่อนคลายสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาตั้งแต่ต้นปี จะช่วยให้เศรษฐกิจจีนผ่านจุดต่ำในไตรมาส 2 และฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี และเชื่อว่าจีนยังมีเครื่องมือทางนโยบายที่จะสามารถกระตุ้น เศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ส่วนนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ เช่น การจัดการหนี้ในภาคธนาคารเงา การเปิดเสรีทางการเงิน การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรเงินทุนผ่านกลไกตลาด และกระตุ้นการบริโภคของภาคครัวเรือน ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และการลดเงินดาวน์ซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อชดเชยการชะลอตัวของภาคการลงทุน จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้เศรษฐกิจจีนในระยะยาว
ขณะที่การปรับตัวลดลงของหุ้นจีน A-share ไม่ได้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของพื้นฐานเศรษฐกิจแต่เกิดจากการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยและการใช้วงเงินกู้มาร์จิ้นในระดับสูง และเชื่อว่ามาตรการของทางการจีนมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะพยุงตลาดหุ้นได้ นอกจากนี้ผลกระทบของความผันผวนของตลาดหุ้นต่อภาคเศรษฐกิจจริงจะมีจำกัดเนื่องจาก จำนวนผู้มีบัญชีซื้อขายหุ้นในจีนมีจำนวนเพียง 55 ล้านบัญชี ซึ่งนับเป็นเพียง 4% เมื่อเทียบกับประชากรจีนจำนวน 1,340 ล้านคน และสินทรัพย์ของครัวเรือนจีนส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัย คิดเป็น 41% และมีเพียง 8% ที่เป็นการลงทุนในตลาดหุ้น ดังนั้นการฟื้นตัวของราคาบ้านในเขตเมืองใหญ่ (Tier-1 Cities) ซึ่งเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือน ก.พ. น่าจะช่วยชดเชยผลกระทบของการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นต่อความมั่งคงรวมของครัวเรือนจีนได้ส่วนหนึ่ง และการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นนั้นไม่ได้เป็นช่องทางการระดมทุนหลักของบริษัทจีน โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา การระดมทุนผ่านตลาดหุ้นคิดเป็นเพียง 4% ของการระดมทุนรวม (Total Social Financing: TSF) โดยแหล่งเงินทุนหลักของบริษัทจีนนั้น ยังคงเป็นการขอสินเชื่อจากภาคธนาคาร ที่คิดเป็นถึง 70% ของการระดมทุนรวม
ด้านตลาดหุ้นเยอรมันนี ดัชนี DAX ยังมี Discount จาก STOXX600 อยู่ราว 15% (วัดจาก forward P/E) ในขณะที่การเติบโตของกำไรสูงกว่า (10% vs 8%) รวมถึงการส่งออก (นับเป็น 40% ของ GDP) ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้การค้าโลกชะลอตัว และแนวโน้มการแข็งค่าของดอลลาร์ (และอ่อนค่าของยูโร) ช่วยสนับสนุนผลกำไรของบริษัทส่งออก
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น มีความน่าสนใจอยู่ที่ระดับ Valuation ดูน่าสนใจที่สุด เนื่องจากตลาดหุ้นยังซื้อขายกันที่ P/E ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีต (+0.2 S.D.) ในขณะที่ เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และคาดการณ์การเติบโตของกำไรสูง (15.5% ในปี 2015) โดยนักวิเคราะห์มีการปรับเพิ่มประมาณการผลกำไรขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการรายงานผลประกอบการของบริษัทที่ดีกว่าคาด รวมถึงแนวโน้มการจ่ายปันผลและการซื้อหุ้นคืน ที่จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้นักลงทุน และสนับสนุนการขยายตัวของ ROE
นายคมศร กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งทิสโก้ประเมินว่า เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ ในเดือนกันยายนหรือธันวาคม ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกหลังจากที่ลดดอกเบี้ยลงไปที่ระดับ 0% มาเป็นเวลา 6 ปี ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 เนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น ทำให้เฟดไม่มีความจำเป็นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% อีกต่อไป และคาดว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงเนื่องจากเงินเฟ้อยังต่ำ จากราคาCommodities และดอลลาร์แข็ง โดยมองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่น เยอรมัน และจีนจะได้ผลกระทบน้อย และมี Upside ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นโอกาสลงทุนในครึ่งปีหลัง
ภาพรวมธุรกิจกองทุนในครึ่งปีแรก และกองทุนที่แนะนำในครึ่งปีหลัง
ด้าน นายสาห์รัช ชัฎสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาด ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด (บลจ. ทิสโก้) (Mr. Saharat Chudsuwan, Head of Marketing and Wealth Advisory, Mutual & Private Fund Business, TISCO Asset Management Co.,Ltd.) กล่าวว่า ทิสโก้นับเป็นรายแรก ๆ ในตลาดที่ได้แนะนำให้นักลงทุนได้กระจายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศ ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยเต็มไปด้วยความผันผวน ทั้งนี้ตลาดต่างประเทศที่ได้แนะนำ พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนมาตอบโจทย์ได้ในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ก็สามารถสร้างผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ
สำหรับภาพรวมในครึ่งปีแรกของปีนี้ ทิสโก้ยังมุ่งออกกองทุนต่างประเทศโดยกระจายการลงทุนไปในภูมิภาคต่างๆ ที่มีศักยภาพอย่างครอบคลุม ทั้งแบบประเภทกองทุนเปิด กองทุนประเภท สตาร์ พลัส (Star Plus Fund) และกองทุนประเภททริกเกอร์ฟันด์ (Trigger Fund)
อีกประเภทกองทุนที่ได้รับการตอบรับที่ดี คือกองทุนประเภท สตาร์พลัส ซึ่งเป็นกองทุนที่ช่วยนักลงทุนคัดเลือกกองทุนที่ดีที่สุดในแต่ละประเทศ หรือแต่ละเซกเตอร์ โดยเลือกผู้จัดการกองทุนที่เก่งที่สุดในตลาดนั้นๆ มารวมตัวกัน โดยถ้ารายไหนไม่สร้างผลงาน ก็สามารถเปลี่ยนออกได้ เหลือไว้แต่กองทุนที่มีผลงานดีเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุน โดยปัจจุบันกองประเภทสตาร์พลัสที่เรามี คือ โกลบอล สตาร์ พลัส ลงทุนในหุ้นโลก, เฮลธ์แคร์ สตาร์ พลัส ลงทุนในหุ้นเฮลธ์แคร์โลก และ ไชน่า สตาร์ พลัสลงทุนในหุ้นจีน ซึ่งทุกกองเราล้วนคัดสรรมาจากผู้จัดการกองทุนระดับโลก”
นายสาห์รัช กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการออกกองทุนในรอบปีที่ผ่านมา มาจากทีมงานคุณภาพซึ่งทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ที่วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและกำหนดกลยุทธ์การลงทุนว่าสินทรัพย์ตัวไหนและตลาดใดมีความน่าสนใจ และผู้จัดการกองทุนที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับกลยุทธ์การลงทุนดังกล่าว ตลอดจนมีทีมที่ปรึกษาการลงทุนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมแก่ลูกค้า