บลจ.กสิกร เสิร์ฟ 3 กองทุนบอนด์ชูโอกาสรับผลตอบแทนสูงสุด 1.75%

บลจ.กสิกร เสิร์ฟ 3 กองทุนบอนด์ ชูโอกาสรับผลตอบแทนสูงสุด 1.75%


นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย เปิดเผยว่า บริษัทเปิดเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศประเภทกำหนดอายุโครงการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อตอบสนองผู้ลงทุนที่ต้องการล็อกผลตอบแทน รวมถึงลูกค้ากลุ่มเดิมที่มีกองทุนครบกำหนดอายุและยังต้องการลงทุนกับกองทุนตราสารหนี้ต่อเนื่อง โดยในระหว่างวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ 2559 บลจ.กสิกรไทยจะเปิดเสนอขายกองทุนตราสารหนี้จำนวน 3 กองทุน ได้แก่

โดยกองทุนเปิดเค เอ็นแฮนซท์ ตราสารหนี้ต่างประเทศ 6 เดือน ซีเอ็ม (KEFF6MCM) ประมาณการผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายกองทุนที่ 1.75% ต่อปี กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 6 เดือน บีพี (KFF6MBP) ประมาณการผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายกองทุนที่ 1.65% ต่อปี และกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 3 เดือน เอ็น (KFF3MN) ประมาณการผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายกองทุนที่ 1.60% ต่อปี โดยทั้ง 3 กองทุนดังกล่าวมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน และสำหรับผู้ลงทุนบุคคลธรรมดาไม่ต้องเสียภาษี    

สำหรับกองทุนเปิดเค เอ็นแฮนซท์ ตราสารหนี้ต่างประเทศ 6 เดือน ซีเอ็ม (KEFF6MCM) คาดว่าจะเข้าไปลงทุนในเงินฝาก Abu Dhabi Commercial Bank, ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เงินฝาก Bank of China, เงินฝาก Agricultural Bank of China, เงินฝาก Commercial Bank of Qatar, ประเทศกาตาร์ และเงินฝาก PT Bank Danamon Indonesia Tbk, ประเทศอินโดนีเชีย โดยกองทุนดังกล่าวมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน และเป็นกองทุนที่เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่มีสินทรัพย์ในการลงทุนสูงและสามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน โดยผู้ลงทุนต้องลงทุนด้วยเงินขั้นต่ำ 1,000,000 บาท

ส่วนกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 6 เดือน บีพี (KFF6MBP) เบื้องต้นคาดว่าจะลงทุนในเงินฝาก Abu Dhabi Commercial Bank, ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เงินฝาก Commercial Bank of Qatar, ประเทศกาตาร์, เงินฝาก Bank of China, เงินฝาก Agricultural Bank of China และเงินฝาก Union National Bank, ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ขณะที่กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 3 เดือน เอ็น (KFF3MN) เบื้องต้นคาดว่าจะลงทุนในเงินฝาก Abu Dhabi Commercial Bank, ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เงินฝาก Commercial Bank of Qatar, ประเทศกาตาร์, เงินฝาก Bank of China และเงินฝาก Agricultural Bank of China เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังลงทุนเพิ่มเติมในเงินฝาก China Construction Bank Corporation โดยตราสารที่กล่าวมามีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) และทั้ง 2 กองทุนดังกล่าวมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน และเป็นกองทุนที่เหมาะสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ยอมรับความเสี่ยงได้ต่ำ แต่ต้องการโอกาสรับผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าการลงทุนกับตราสารหนี้ภายในประเทศเพียงอย่างเดียว โดยผู้ลงทุนสามารถลงทุนด้วยเงินขั้นต่ำเพียง 5,000 บาท

สำหรับภาวะตลาดสารหนี้ไทย บลจ.กสิกรไทยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมรอบแรกของปี 2559 ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อรอติดตามประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่คาดว่าจะมีมากขึ้น อันเนื่องมาจากผลกระทบที่จะได้รับจากประเด็นเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งนี้แม้ว่าผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่ถ้อยแถลงการได้ระบุถึงความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก สะท้อนให้เห็นแนวโน้มที่เฟด อาจมีความระมัดระวังต่อจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งหากการส่งสัญญาณในทิศทางดังกล่าวมีความชัดเจน จะช่วยให้ภาวะเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยเบาบางลง อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ไม่มากนัก บลจ.กสิกรไทยแนะนำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มีการกำหนดอายุโครงการประมาณ 3-6 เดือน เพื่อเป็นการล็อกผลตอบแทนและเพื่อรอประเมินสถานการณ์ในระยะต่อไป     

นอกจากนี้บลจ.กสิกรไทย ยังได้เพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนต่อเนื่องให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนกับกองทุนตราสารหนี้แบบที่มีกำหนดอายุโครงการ (Fixed Term Fund) ของบลจ.กสิกรไทย ซึ่งเมื่อกองทุนครบกำหนดอายุโครงการ บริษัทจัดการจะนำเงินค่าขายคืนอัตโนมัติไปซื้อหน่วยลงทุนที่ผู้ลงทุนเลือกได้กองทุนใดกองทุนหนึ่งใน 3 กองทุน คือ กองทุนเปิดเค ตลาดเงิน (K-MONEY) กองทุนเปิดเค ตราสารรัฐระยะสั้น (K-TREASURY) หรือกองทุนเปิดเค เอ็มพลัส (K-MPLUS) ซึ่งอยู่ในกลุ่มกองทุนรวมตราสารหนี้ ของบลจ.กสิกรไทย

Back to top button