บลจ.กสิกรไทย ออกกองทุน K-AEC ลงทุนหุ้นอาเซียน ขาย 15-19 ก.พ.นี้
บลจ.กสิกรไทย ออกกองทุน K-AEC ลงทุนในหุ้นอาเซียน ขาย 15-19 ก.พ.นี้
นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย เปิดเผยว่า บริษัทจะเปิดเสนอกองทุนเปิดเค อาเซียน อีโคโนมิค คอมมูนิตี้ หุ้นทุน (K-AEC) ที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นของภูมิภาคอาเซียน เบื้องต้นจะลงทุนในหุ้นทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนไม่เกิน 30 ตัว ที่มีสภาพคล่องและศักยภาพในการเติบโตสูงของ 4 ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ และกองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน โดยจะเสนอขายระหว่างวันที่ 15-19 ก.พ.นี้ ซึ่งผู้สนใจลงทุนสามารถลงทุนได้ด้วยมูลค่าเงินลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท
ทั้งนี้ เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และยังมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว โดยตัวเลขคาดการณ์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปี 2559 พบว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ที่ 4.9% เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ที่ 2.8%, 1.6% และ 1.0% ตามลำดับ
“ประโยชน์จากการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มประเทศอาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันกว่า 2.47 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐฯ จีนและญี่ปุ่น ตามลำดับ รวมถึงยังช่วยเพิ่มความสามารถในการต่อรองและการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่มูลค่าตลาดหลักทรัพย์ในปัจจุบันรวมทั้งกลุ่มคิดเป็นเพียง 3% ของตลาดโลก ทำให้ตลาดหุ้นในอาเซียนยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก โดยเฉพาะจากปัจจัยบวกด้านการดำเนินมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชนในแต่ละประเทศ”นางสาวธิดาศิริ กล่าว
สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศอาเซียน ยังนับว่าเป็นการช่วยกระจายการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดี โดยการศึกษาข้อมูลในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 49-58 พบว่าการลงทุนในดัชนีหุ้นของ 4 ประเทศในอาเซียนในสัดส่วนที่เท่ากัน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และไทย สามารถให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 14.71% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าการลงทุนในดัชนีตลาดหุ้นไทยเพียงอย่างเดียว ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10.74% ต่อปี
นอกจากนี้ การลงทุนในอาเซียนยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการลงทุนไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจ แต่ในประเทศไทยอาจไม่มีศักยภาพในการแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น เนื่องด้วยข้อจำกัดต่างๆ อาทิ ทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิประเทศ หรือทักษะของแรงงาน
โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ส่งทีมผู้จัดการกองทุนและนักวิเคราะห์ รวมทั้งหมด 17 คน เพื่อเข้าไปศึกษาและวิเคราะห์หุ้นในกลุ่มประเทศอาเซียนมาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว โดยมีการวิเคราะห์หุ้นเชิงลึกในรายตัวครอบคลุมกว่า 150 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของมูลค่าตลาดในแต่ละประเทศ
ทั้งนี้ ยังได้ประเมินอัตราการเติบโตทางกำไรของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มประเทศอาเซียน 4 ประเทศหลักดังกล่าว ในปี 59 ว่าจะเติบโตอยู่ระหว่าง 9-16% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าในปีก่อนหน้า รวมถึงมองว่าช่วงนี้เป็นจังหวะที่ดีในการเข้าลงทุน เนื่องจากระดับราคาหุ้นในภูมิภาคอาเซียนได้ปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยอัตราส่วนราคาต่อกำไร (Forward P/E) ในปี 2559 ของหุ้นอาเซียนในแต่ละประเทศ ได้ปรับลงมาอยู่ระหว่าง 11.56-15.29 เท่า และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งอยู่ที่ 11.82-17.45 เท่า
สำหรับหลักในการพิจารณาคัดเลือกหุ้นจะเน้นที่การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานในระดับบริษัท (Bottom-up / Fundamental Approach) ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ และผู้จัดการกองทุนมีการประเมินมูลค่าหุ้น (Stock Valuation) โดยพิจารณาเรื่องความได้เปรียบในการแข่งขัน ระดับราคาที่เหมาะสม รวมถึงการมีบรรษัทธรรมาภิบาลที่ดี และจะพิจารณาธีมการลงทุนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง ซึ่งปัจจุบันจะเน้นหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงภาคการผลิตและบริการด้วย
ส่วนถ้ามองเป็นรายอุตสาหกรรมในแต่ละประเทศ กลุ่มที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มการผลิตในประเทศมาเลเซียโดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ กลุ่มท่องเที่ยวและบริการในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ กลุ่มสินค้าบริโภคและการผลิตในประเทศเวียดนาม