บลจ.กสิกรไทย บุกตลาดไฮเอนด์เป้าปี59เพิ่มลูกค้าอีก 3 หมื่นราย

บลจ. กสิกรไทย บุกตลาดไฮเอนด์ ตั้งเป้าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ปี 2559 จะเติบโตจากปี 2558 ที่ทำได้ 1.13 ล้านล้านบาท


นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ปี 2559 จะเติบโตจากปี 2558 ที่ทำได้ 1.13 ล้านล้านบาท ขณะที่ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มี AUM ที่ 1.15 ล้านล้านบาท

โดยกลยุทธ์การเพิ่ม AUM จะพยายามเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง หรือไฮเน็ตเวิร์ธ และกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการลงทุนสูง (AI) เพื่อต่อยอดกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) โดยในปีนี้จะเพิ่มอีก 30,000 ราย จากปัจจุบันมีฐานลูกค้า 100,000 ราย

ส่วนผลิตภัณฑ์กองทุนจะมีความหลากหลายเพื่อตอบโจทย์การลงทุนได้ครอบคลุมทุกช่วงชีวิตการลงทุน และการมีผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีคุณภาพ และการมีบริการและเครื่องมือต่างๆ ทำให้การลงทุนเป็นเรื่องง่าย

ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทยฯ ได้รับหน้าที่เป็นทรัสตีของกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีทส์ ) ซึ่งในปีนี้จะเป็นทรัสตีอย่างน้อย 4 กองทุน มีมูลค่ากองทุนละไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาได้ออกมาแล้ว 1 กอง คือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลเด้นเวนเจอร์ (GVREIT) ซึ่งในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าจะออกอีก 1 กอง  ขณะที่แนวโน้มการออกกองทรัสต์ในปีนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวด คลังสินค้า โรงแรม อาคารสำนักงานให้เช่า

ด้าน นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทยฯ เปิดเผยว่าล่าสุดระหว่างวันที่ 4 – 7 เมษายนที่ผ่านมา บริษัทได้ออกกองทุนเปิดเค เอ็นแฮนซท์ ตราสารหนี้ต่างประเทศ 6 เดือน ซีเอส (KEFF6MCS) ประมาณการผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายกองทุนที่ 2.10% ต่อปี กองทุนดังกล่าวมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน และสำหรับผู้ลงทุนบุคคลธรรมดาไม่ต้องเสียภาษี

ทั้งนี้มุมมองของบลจ.กสิกรไทยฯ คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี ไปอีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากมองว่าระดับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันมีความผ่อนปรนเพียงพอแล้ว และเอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยและเหมาะสมต่อการดูแลเสถียร ภาพเศรษฐกิจการเงิน ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่กนง.กำลังติดตาม คือ ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชียที่อาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ขณะที่การดำเนินนโยบายทางการเงินที่แตกต่างกันของธนาคารกลางหลักๆ หลายแห่ง อาจส่งผลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายรวมถึงทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในบางช่วง

อย่างไรก็ตาม กนง.ยังไม่ปิดโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคต หากตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ออกมายังไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาด อาทิ ตัวเลขการส่งออกที่อาจเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงภาคการใช้จ่ายและการลงทุนภายในประเทศได้ ดังนั้น สำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ไม่มากนัก จึงเหมาะกับการลงทุนในตราสารหนี้แบบกำหนดอายุโครงการ(เทอมฟันด์)สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการแหล่งพักเงินในช่วงระยะเวลาประมาณ 6 เดือน และยังคงให้โอกาสรับผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ

Back to top button