กอช.กระตุ้นผู้สูงอายุเร่งสมัครสมาชิกกองทุนหมดเขตรับสมัครผู้อายุเกิน 60 ปี 25 ก.ย.นี้
กอช.กระตุ้นผู้สูงอายุเร่งสมัครสมาชิกกองทุน หมดเขตรับสมัครผู้อายุเกิน 60 ปี 25 ก.ย.นี้
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า กำลังเร่งรัดรับสมัครผู้สูงอายุเข้าเป็นสมาชิก กอช. ซึ่งหลักเกณฑ์ของกฎหมายตาม พ.ร.บ.การให้สิทธิแก่ผู้สมัครสมาชิก กอช.เป็นบางกรณี เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปสามารถออมได้ 10 ปีเต็ม นับจากอายุตัวในวันที่สมัครสมาชิก ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีแล้วด้วยที่ได้รับสิทธิตามกฎหมายนี้โดยไม่จำกัดอายุ โดยจะหมดเขตรับสมัครตามเงื่อนไขนี้ในวันที่ 25 ก.ย.นี้
“เนื่องจากกฎหมายให้สิทธินี้เป็นระยะเวลา 1 ปีนับจากวันที่ พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ ดังนั้นผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนได้ภายในวันที่ 25 ก.ย.นี้เท่านั้น ซึ่งจะครบ 1 ปีนับจากวันที่ประกาศกฎหมายฉบับนี้ ส่วนผู้ที่มีอายุ 50-60 ปี ถ้าสมัครสมาชิกก่อนวันที่ 25 ก.ย.ก็จะยังได้รับสิทธิออม 10 ปีนับจากอายุตัวในวันที่สมัคร แต่ถ้าเลยวันที่ 25 ก.ย.ไปแล้วก็สามารถสมัครสมาชิกได้ แต่จะออมได้ถึงอายุ 60 เท่านั้น” นายสมพร กล่าว
โดยช่วงที่ผ่านมา กอช.ได้ลงพื้นที่พบปะกับชาวบ้านผู้สูงอายุในหลายพื้นที่ ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดหัวเมือง อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ และพัทยา เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านได้ทราบสิทธิตามหลักเกณฑ์นี้ และประโยชน์อื่นๆ ที่จะได้รับเมื่อสมัครสมาชิก กอช. ซึ่งก็ได้การตอบรับที่ดี มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ได้เริ่มออมกับ กอช. บางรายที่ยังอายุไม่มาก บอกว่าออม 10 ปีก็ได้ใช้บำนาญแล้ว และจะมีชีวิตอยู่รับบำนาญไปอีกนาน บางรายบอกว่าออมไว้ถึงไม่ได้ใช้เองก็ให้ลูกหลานได้ใช้ ดีตรงที่รัฐบาลให้เงินสมทบแล้วยังค้ำประกันดอกผลด้วยว่าไม่ขาดทุนแน่ มีแต่ได้กับได้จริงๆ โดยล่าสุด กอช. มีสมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 7 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในช่วงก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาแล้วเป็นเวลากว่า 10 ปี และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า ที่คนวัยทำงานเพียง 2 คนจะต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน คาดว่าในปี พ.ศ.2568 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากถึง 14 ล้านคน อันเนื่องมาจากประชากรมีอายุยืนยาวมากขึ้น ขณะที่อัตราเด็กเกิดใหม่ต่ำ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับสภาพแวดล้อมของสังคมสูงวัยนี้ด้วยเช่นกัน รัฐจะมีภาระทางการเงินการคลังเพิ่มมากขึ้นในการดูแลประชากรสูงวัยในทุกด้าน
ทั้งด้านสุขภาพอนามัย สภาพจิตใจและการปรับตัวทางสังคม และที่สำคัญคือด้านค่าใช้จ่ายในการกินอยู่ รัฐจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสภาพแวดล้อมของสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เสียตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้รับสวัสดิการจากรัฐอย่างทั่วถึงทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย จึงจำเป็นต้องส่งเสริมผลักดันให้มีการออมเพื่อชีวิตยามเกษียณของตนเอง เพื่อที่นอกจากจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแล้ว ผู้มีรายได้น้อยยังจะมีสิทธิได้บำนาญรายเดือนจาก กอช. อีกด้วย
โดยกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) คือ ส่วนหนึ่งของระบบบำนาญของประเทศไทย ที่ประชากรกลุ่มที่เป็นแรงงานนอกระบบ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีนายจ้าง จำนวนกว่า 25 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้น้อยและไม่สม่ำเสมอ จะได้มีโอกาสรับบำนาญเพื่อเลี้ยงชีพตัวเองเมื่อต้องเกษียณอายุและไม่มีรายได้แล้ว