TMB มองสินเชื่อ SME ครึ่งปีหลังโตรุกออกสินเชื่อหลักประกันธุรกิจเจ้าแรก
TMB มองสินเชื่อ SME ครึ่งปีหลังโต รุกออกสินเชื่อหลักประกันธุรกิจเจ้าแรก
นายไตรรงค์ บุตรากาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า แนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัวมากกว่าครึ่งปีแรก โดยเป็นผลมาจากการลงทุนของภาครัฐที่จะส่งผลให้ภาคเอกชนมีการลงทุนตาม และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในภาพรวมให้ขยายตัวขึ้นได้ ขณะที่ธนาคารออกสินเชื่อหลักประกันธุรกิจ รองรับโอกาสการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีมากขึ้น
ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค.) ขยายตัว 1-2% หรือคิดเป็นจำนวนเงินสินเชื่อที่ปล่อยไป 2-3 พันล้านบาท จากสินเชื่อคงค้างในสิ้นปี 58 ที่ 2.1 แสนล้านบาท
“เราไม่ได้ตั้งเป้าสินเชื่อไว้ในปีนี้ เพราะปีนี้เราไม่เน้นขยายสินเชื่อให้โตมากนัก เพราะว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ปัจจัยหลาย ๆ อย่างก็ยังไม่มีความชัดเจน เรายังมองภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ยังชะลอตัวอยู่ กลุ่มธุรกิจที่ยังชะลอตัว คือ กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ได้แก่ ยางพารา และวัสดุก่อสร้าง ที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ แต่ก็มีธุรกิจที่ยังไปได้ เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง และอาหาร ในแง่ของธนาคารมองว่าในไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่ดีที่สุดของธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งจะมีการขยายตัวของสินเชื่ออย่างมาก”นายไตรรงค์ กล่าว
สำหรับเป้าหมายรายได้รวมของธุรกิจเอสเอ็มอีของธนาคารนั้นมีโอกาสที่จะทบทวนปรับเป้าหมายจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้เติบโต 15% ขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้พบว่ารายได้รวมของธุรกิจเอสเอ็มอีเติบโตเพียง 8% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่เอื้อต่อการลงทุน โดยรายได้รวมของธุรกิจเอสเอ็มอี ประกอบด้วย รายได้ค่าธรรมเนียมที่ตั้งเป้าเติบโต 10-15% และรายได้จากดอกเบี้ย
ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธุรกิจเอสเอ็มอีของธนาคารประเมินว่าในช่วงครึ่งปีหลัง NPL จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่เป็นการเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัว ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามธนาคารคาดว่าในปี 60 สัญญาณของ NPL จะกลับมาดีขึ้น ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่พลิกฟื้นกลับมา
ทั้งนี้ ธนาคารได้ออกสินเชื่อหลักประกันธุรกิจ ทีเอ็มบี ซึ่งนับเป็นแบงก์แรกที่จะออกสินเชื่อประเภทดังกล่าว โดยให้วงเงินเพิ่มสูงสุดถึง 20% จากวงเงินเดิม เพื่อตอบรับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ก.ค.นี้ โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลาง จะได้รับโอกาสในการทำธุรกิจมากขึ้นเพราะสามารถนำ“ทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ” มาเป็นหลักประกันเพิ่มเพื่อขอสินเชื่อได้ จากเดิมที่จำกัดอยู่แค่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น
โดยนับจากนี้สามารถนำทรัพย์สินอื่นซึ่งอยู่ใน 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. กิจการ 2. ลูกหนี้การค้า 3. สังหาริมทรัพย์ใช้ประกอบธุรกิจ 4. อสังหาริมทรัพย์ สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ 5. ทรัพย์สินทางปัญญา มาเป็นหลักประกันเพื่อขอวงเงินสินเชื่อได้ เป็นการปลดล็อคปัญหาหลักประกันในอดีต โดยที่ผู้ประกอบการสามารถนำทรัพย์สินไปประกอบธุรกิจได้ตามปกติ ไม่ต้องส่งมอบให้ธนาคารซึ่งเป็นผลดีแก่ผู้ประกอบการ โดยข้อดีของพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 นี้ คือการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น มีเงินทุนเพียงพอตลอดเวลา ทำให้ธุรกิจคล่องตัวมากขึ้น และส่งผลระยะยาวต่อเงินทุนในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสรุปถึงวิธีการประเมินและการให้มูลค่าการตั้งสำรองสำหรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฉบับนี้ โดยธนาคารคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อได้ 2 พันล้านบาท
“สินเชื่อตัวนี้ธนาคารออกมาเพื่อขานรับกับกฎหมายที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งเชื่อมั่นว่าลูกค้าจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น และแบงก์ยังได้หลักประกันเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยสินเชื่อนี้ธนาคารจะเน้นลูกค้าเก่ามากกว่าลูกค้าใหม่ หรือคิดเป็นสัดส่วน 60-70% ของพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีทั้งหมด อีก 30-40% เป็นลูกค้าใหม่ ซึ่งคาดว่าสินเชื่อนี้จะได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าที่ทำธุรกิจซื้อมาขายไป และตั้งเป้าจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่นี้ได้ที่ 1-2 พันล้านบาท”นายไตรรงค์ กล่าว