บลจ.กสิกรไทย จ่อปันผลกองทุนตปท.เล็งจ่าย 14 มิ.ย.นี้ รวมมูลค่า 20.93 ลบ.
บลจ.กสิกรไทย จ่อปันผลกองทุนตปท. เล็งจ่าย 14 มิ.ย.นี้ รวมมูลค่า 20.93 ลบ.
นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า บลจ.กสิกรไทย มีกำหนดจะจ่ายเงินปันผลกองทุนต่างประเทศจำนวน 2 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนเปิดเค หุ้นยูเอส ดัชนีเอ็นดีคิว 100 (K-USXNDQ) ในอัตรา 0.25 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 – 31 พฤษภาคม 2559 และกองทุนเปิดเค โกลบอล อินฟราสตรัคเจอร์ หุ้นทุน (K-GINFRA) ในอัตรา 0.25 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2559 – 31 พฤษภาคม 2559
โดยทั้ง 2 กองทุนดังกล่าวจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีรายชื่ออยู่ในสมุดทะเบียน ณ เวลา 8.00 น. ของวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลดังกล่าวพร้อมกันในวันที่ 14 มิถุนายน 2559 นี้ รวมมูลค่าเงินปันผลทั้งสิ้น 20.93 ล้านบาท
ด้านภาวะตลาดในช่วงที่ผ่านมา นายนาวินกล่าวว่า ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงหุ้นสหรัฐฯฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากเกิดความผันผวนและแรงเทขายมาตั้งแต่ต้นปี ทั้งนี้นับจากจุดต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์ จนถึง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2559 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นมาแล้วประมาณ 14% โดยปัจจัยหนุนหลักมาจากการที่นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ประกอบกับสภาพคล่องจากทั่วโลกยังมีอยู่สูง ส่งผลทำให้กองทุน K-USXNDQ ที่มีกลยุทธ์การลงทุนเชิงรับและมุ่งหวังสร้างผลตอบแทนที่เคลื่อนไหวอ้างอิงกับดัชนี Nasdaq-100 สามารถปรับตัวขึ้นใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง โดยในรอบผลดำเนินงานช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (1 มี.ค.-31 พ.ค 59) กองทุนให้ผลตอบแทนที่ประมาณ 7.41%
ขณะที่ราคาหุ้นในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหุ้นโครงสร้างพื้นฐานในหมวดธุรกิจพลังงาน อาทิ ธุรกิจท่อขนส่งน้ำมันและธุรกิจจัดเก็บก๊าซธรรมชาติ โดยได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวดีขึ้น และส่งผลบวกต่อกองทุน K-GINFRA ที่ปัจจุบันได้ให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นโครงสร้างพื้นฐานหมวดพลังงานอยู่มากกว่า 30% ประกอบกับกองทุนหลักมีการจับจังหวะเข้าลงทุนได้อย่างเหมาะสม ทำให้กองทุน K-GINFRA สามารถสร้างผลการดำเนินงานได้อย่างโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา และมีการจ่ายเงินปันผลเป็นครั้งแรก หลังจากจัดตั้งกองทุนได้ไม่ถึง 3 เดือน โดยนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 23 มี.ค 59 – 31 พ.ค. 59 กองทุนให้ผลตอบแทนกว่า 6% ทั้งนี้จุดเด่นของกองทุน K-GINFRA คือผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลตอบแทนที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ เนื่องจากจะลงทุนในหุ้นกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มที่มีความผันผวนต่อภาวะเศรษฐกิจน้อยกว่าในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ (Defensive Stock) และยังสามารถสร้างรายได้หรือทำกำไรได้แม้ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย
สำหรับมุมมองการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ นายนาวินกล่าวว่า “ประเด็นคาดการณ์ช่วงเวลาปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นยังมีความผันผวนต่อเนื่อง โดยตัวเลขการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ล่าสุดหลังจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค. ที่ออกมาผิดหวังตลาด ทำให้มีนักวิเคราะห์เพียงแค่ 4% มองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย.นี้ ขณะที่ก่อนหน้านี้มีสูงถึง 30% อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสหรัฐฯในภาพรวมยังมีทิศทางการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะอุปสงค์ภายในประเทศ รวมถึงตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง ขณะที่หุ้นในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกน่าจะยังคงมีความผันผวนต่อเนื่องจากสภาวะตลาดหุ้นในภาพรวม แม้ว่ารายได้ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานจะค่อนข้างมั่นคงสม่ำเสมอ แต่การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันอาจส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในภาพรวม โดยเฉพาะหุ้นโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานซึ่งมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งในดัชนีชี้วัด”
ทั้งนี้มองว่าความน่าสนใจในการลงทุนหุ้นสหรัฐฯมีค่อนข้างจำกัด ด้วยระดับราคาหุ้นปัจจุบันที่ซื้อขายอยู่ในระดับที่ใกล้เต็มมูลค่าและค่อนข้างแพง ประกอบกับอัตราการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มลดลง และค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่าหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ย ผู้ลงทุนจึงต้องใช้ความระมัดระวังหากต้องการเข้าลงทุนเพิ่มเติม ส่วนผู้ลงทุนที่ต้องการเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก มองว่ายังเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุนเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการกระจายการลงทุนไปในหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก
โดยหุ้นในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว ด้วยระดับราคาปัจจุบันที่เหมาะสม และเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่มั่นคงและมีโอกาสสร้างกระแสรายได้ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่ผู้ลงทุนควรติดตามนอกเหนือจากจังหวะในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด คือ ผลการทำประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) และการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพิ่มเติมของธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่น ที่อาจส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนได้ในระยะสั้น” นายนาวินกล่าวในที่สุด