บลจ.กสิกรไทย เล็งย้ายกองทุน ABFTH เข้าซื้อขายใน ตลท.หวังเพิ่มสภาพคล่อง

บลจ.กสิกรไทย เล็งย้ายกองทุน ABFTH เข้าซื้อขายใน ตลท. เดือน ก.ค.นี้ หวังเพิ่มสภาพคล่อง


นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย หรือ บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า เดือน ก.ค.นี้จะสามารถนำกองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ (ABFTH) มาจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จากปัจจุบันที่ซื้อขายอยู่ในตลาดตราสารหนี้ (BEX)

ขณะนี้คณะกรรมการที่ปรึกษากองทุนกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้ย้ายการซื้อขายกองทุน ABFTH จาก BEX ไป SET เพื่อทำให้กองทุนเป็นที่รู้จักมากขึ้น ช่วยเพิ่มขนาดกองทุนและสภาพคล่องให้มีมากขึ้น นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไปรวมถึงนักลงทุนสถาบันสามารถเข้าลงทุนได้ง่ายขึ้น” นายชัชชัย กล่าว

ทั้งนี้ กองทุน ABFTH เป็นอีทีเอฟกองทุนแรกของไทยที่อ้างอิงกับดัชนีตราสารหนี้ภาครัฐ (iBoxx ABF Thailand Index) โดยลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลไทย หรือออกโดยภาครัฐที่มีรัฐบาลไทยเป็นผู้ค้ำประกันหรือได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือน่าลงทุน ปัจจุบันกองทุนมีขนาดประมาณ 7,000 ล้านบาท

จุดเด่นของกองทุน ABFTH คือ ตราสารหนี้ภาครัฐมีความเสี่ยงด้านการผิดนัดชาระหนี้ต่ำมาก และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูง เนื่องจากกองทุนมีอายุเฉลี่ยตราสารประมาณ 6 ปี ยาวกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น พร้อมทั้งยังมีสภาพคล่องเนื่องจากสามารถซื้อขายผ่าน ตลท.” นายชัชชัย กล่าว

นอกจากนี้ บลจ.กสิกรไทย เตรียมจ่ายเงินปันผลกองทุน ABFTH สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2558-31 พ.ค. 2559 ในอัตรา 15 บาท/หน่วย มูลค่าการจ่ายเงินปันผลรวม 86.33 ล้านบาท โดยจะจ่ายให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีรายชื่อในสมุดทะเบียนวันที่ 31 พ.ค. 2559 และจ่ายเงินปันผลวันที่ 14 มิ.ย.2559 มูลค่าหน่วยลงทุน ณ วันที่ 8 มิ.ย. 2559 อยู่ที่ 1,227 บาท/หน่วย

นายชัชชัย ยังกล่าวถึงสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ไทย ว่า ราคาพันธบัตรปรับตัวกลับขึ้นมาอีกครั้งหลังจากสหรัฐประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในเดือน พ.ค. ซึ่งออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ทำให้โอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีน้อยลงไปอีก

“ในช่วงครึ่งปีหลัง แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาดตราสารหนี้ให้ผันผวนในระยะสั้น แต่ไม่ผันผวนมากเหมือนครึ่งปีแรก เนื่องจากตลาดมีการรับรู้ไปมากแล้วถึงจังหวะในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ประกอบกับสภาพคล่องในระบบที่ยังมีอยู่สูงจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในตราสารหนี้” นายชัชชัย กล่าว

Back to top button