บลจ.กสิกรไทยเชียร์ลงทุนกอง K-AECเผยผลตอบแทน 4 เดือนได้ 7.14%
บลจ.กสิกรไทย เชียร์ลงทุนกองอาเซียน เศรษฐกิจโตดีหาดเทียบกับภูมิภาคอื่นเผยผลตอบแทนตั้งแต่ตั้งกอง 4 เดือนได้ 7.14%
นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด หรือ บลจ.กสิกรไทยเปิดเผยว่า ปัจจุบัน บริษัทมีกองทุนรวมที่ไปลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ กองทุนเปิดเค อาเซียน อีโคโนมิค คอมมูนิตี้ หุ้นทุน (K-AEC) ซึ่งบริษัทได้เปิดเสนอขายครั้งแรกไปเมื่อเดือนกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2559 กองทุนให้ผลตอบแทนย้อนหลังอยู่ที่ 7.14% (ข้อมูล ณ วันที่ 28 มิ.ย. 59) โดยกองทุน K-AEC มีนโยบายลงทุนโดยตรงในหุ้นของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในเบื้องต้นจะลงทุนในหุ้นจำนวนไม่เกิน 30 ตัว ที่มีสภาพคล่องและศักยภาพในการเติบโตสูงของ 4 ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย กองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2559 ตลาดหุ้นของภูมิภาคอาเซียนในภาพรวมปรับตัวค่อนข้างโดดเด่น เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะประเทศไทย และฟิลิปปินส์ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีให้ผลตอบแทนสูงที่สุดประมาณ 11.6% และ10.3% ตามลำดับ ตามมาด้วยตลาดหุ้นเวียดนามให้ผลตอบแทนที่ 7.4% และตลาดหุ้นอินโดนีเซียให้ผลตอบแทนที่ 6.3% โดยตัวเลขผลตอบแทนของตลาดหุ้นประเทศ ไทย และฟิลิปปินส์ โดดเด่นสอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่หนึ่งซึ่งมีการฟื้นตัวดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาค่อนข้างชัดเจน โดยประเทศไทยอยู่ที่ 3.2% ประเทศฟิลิปปินส์อยู่ที่ 6.9% ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามมีทิศทางที่ชะลอตัวลงเล็กน้อย
บริษัทยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อภูมิภาคอาเซียนทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ และตลาดหุ้น เพราะแต่ละประเทศมีปัจจัยสนับสนุนที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ อาทิ ประเทศฟิลิปปินส์ที่เพิ่งแต่งตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ พร้อมทั้งยังมีการแถลงแผนปฏิรูปประเทศ และนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจน บวกกับคณะรัฐบาลที่มีศักยภาพ เป็นผลให้ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ หลังมีการเลือกตั้ง (9 พ.ค. 59) ปรับตัวขึ้นมาเกือบ 11%
ด้านประเทศอินโดนีเซีย แม้เศรษฐกิจจะเป็นการขยายตัวอย่างช้าๆ แต่เชื่อว่าการที่รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างระบบสาธารณูปโภค ความพยายามที่จะปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจในหลายด้าน รวมถึงการผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทางภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชากร
ส่วนประเทศเวียดนามเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว และน่าจะเห็นการเติบโตจากนโยบายเศรษฐกิจที่มีความชัดเจน อีกทั้งแนวโน้มการบริโภคจากฐานชนชั้นกลางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยสนับสนุนแก่ภาคธุรกิจ และยังเป็นการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนเพิ่มเติมอีกด้วย
ขณะที่ประเทศมาเลเซียแม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจยังคงอยู่ในช่วงชะลอตัวลงตามราคาน้ำมัน ที่อยู่ในระดับต่ำ และความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่ด้วยแผนการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล ซึ่งมุ่งเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ น่าจะส่งผลดีในระยะยาวให้กับเศรษฐกิจของมาเลเซียได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อว่ามีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง โดยปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ รวมถึงแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ทยอยประกาศออกมาเป็นระยะ ทำให้เริ่มเห็นการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2 นอกจากนี้สถานการณ์ภัยแล้งในช่วงครึ่งหลังของปียังมีแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้น จากตัวเลขคาดการณ์ของ IMF ปี 2559 ประเมินว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนน่าจะเติบโตอยู่ที่ 4.9% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ส่วนผลกระทบจาก Brexit ตลาดอาเซียนน่าจะได้รับกระทบน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับตลาดภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากมีการค้ากับกลุ่มประเทศยุโรป และอังกฤษน้อย ประมาณ 2-8% ของมูลค่าส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในการค้าขายเป็นหลัก จึงทำให้ผลกระทบต่อการ อ่อนค่าของสกุลเงินปอนด์และยูโร อาจมีไม่มากนัก