SME Bank เผย 9 เดือนกำไร 961 ลบ.มั่นใจสินเชื่อใหม่ 4 หมื่นลบ.ตามเป้า

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) หรือ SME Bank เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ย.58) มีกำไรสุทธิ 961 ล้านบาท โดยในเดือน ก.ย.58 มีกำไรสุทธิ 124 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อมีคุณภาพดี(Good Loan) ทำให้มีรายได้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น โดยมี Net Interest Margin เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้น มิ.ย.58 เท่ากับ 2.25% เป็น 2.52 % ณ สิ้น ก.ย.58 ขณะที่ธนาคารมีกำไรสะสมทำให้มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS Ratio) เท่ากับ 10.25%


นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) หรือ SME Bank เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ย.58) มีกำไรสุทธิ 961 ล้านบาท โดยในเดือน ก.ย.58 มีกำไรสุทธิ 124 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อมีคุณภาพดี(Good Loan) ทำให้มีรายได้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น โดยมี Net Interest Margin เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้น มิ.ย.58 เท่ากับ 2.25% เป็น 2.52 % ณ สิ้น ก.ย.58 ขณะที่ธนาคารมีกำไรสะสมทำให้มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS Ratio) เท่ากับ 10.25%

ส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs) ณ สิ้น ก.ย.58 คงเหลือ 26,123 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30.87% ของสินเชื่อรวม โดยเดือน ก.ย.58 NPLs ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามากพอสมควรจำนวน 887 ล้านบาท หลังจากธนาคารมีการขายลูกหนี้ออกไปและมีการปรับโครงสร้างหนี้

ขณะที่เงินให้สินเชื่อ ณ สิ้น ก.ย.58 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้าง 84,622 ล้านบาท เป็นจำนวนลูกหนี้ทั้งหมด 69,147 ราย โดยลูกหนี้มีจำนวนรายเพิ่มขึ้นจาก ณ ธ.ค.57 เท่ากับ 1,472 ราย ลูกหนี้ใหม่ทุกรายที่เพิ่มขึ้นมีวงเงินต่ำกว่า 15 ล้านบาท และนับถึงวันที่ 15 ต.ค.58 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 22,391 ล้านบาท มีลูกค้าใหม่ 9,491 ราย โดยมียอดสินเชื่อเฉลี่ยต่อราย 2.36 ล้านบาท

ในส่วนของสินเชื่อ Policy Loan ดอกเบี้ยต่ำ 4% ขณะนี้มีคำขอจากลูกค้า ซึ่งธนาคารได้พิจารณาเบื้องต้นอยู่ในข่ายจะสามารถอนุมัติได้เพียงวันที่ 15 ต.ค.58 เป็นวงเงิน 12,954.87 ล้านบาท ลูกค้า 2,837 ราย ในจำนวนนี้ 76.67% เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว และธนาคารสามารถอนุมัติสินเชื่อ Policy Loan ได้แล้ว 2,006.68 ล้านบาท ลูกค้า 630 ราย(เฉลี่ยรายละ 3.18 ล้านบาท) ส่วนสินเชื่อ Soft Loan ดอกเบี้ยต่ำ 4% ธนาคารได้เริ่มดำเนินการแล้วนับถึงวันที่ 15 ต.ค.58 ได้รับคำขอสินเชื่อวงเงิน 9,345.66 ล้านบาท ลุกค้า 2,447 ราย สามารถอนุมัติได้ 1,165.66 ล้านบาท ลุกค้า 413 ราย(เฉลี่ยรายละ 2.82 ล้านบาท)

สำหรับการพัฒนาผู้ประกอบการ ธนาคารฯ ร่วมกับ สสว.โดยมุ่งเน้นการบ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ ซึ่ง สสว.จะเป็นแกนหลักในการบ่มเพาะร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และบทบาทของธนาคารในเรื่องนี้ คือ การสนับสนุนผู้ประกอบการที่ผ่านการบ่มเพาะมีความตั้งใจแน่วแน่ และมีศักยภาพเพียงพอที่จะประกอบกิจการ SMEs ได้ โดยธนาคารฯ จะพิจารณาให้สินเชื่อหรือร่วมลงทุนด้วย นอกจากนั้นธนาคารฯ ร่วมกับ สสว.ในโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมของวิสาหกิจชุมชนให้เป็นที่ต้องการมากขึ้น และจะช่วยในเรื่องการจัดจำหน่ายด้วย

ส่วนโครงการร่วมลงทุน(Venture Capital)นั้น ธนาคารฯ พยายามเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ แต่การเข้าร่วมลงทุนกระทำได้ไม่เร็วนักเพราะมีข้อจำกัด เนื่องจากไม่สามารถหาพี่เลี้ยง(Asset Manager) ได้มากเพียงพอ SMEs ที่ธนาคารฯ คัดสรรเป็นเป้าหมายร่วมลงทุนได้อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม เพียงสิ้นเดือน ก.ย.58 มี SMEs ที่ธนาคารฯ จะสามารถร่วมลงทุนได้จำนวน 380 ล้านบาท แยกเป็น เตรียมจะลงเงินใน SMEs ขนาดเล็กที่มีศักยภาพ 2 ราย(ธุรกิจด้านไอทีและอาหาร) รวมเป็นเงินลงทุน 20 ล้านบาท SMEs ที่จะต้องดูแลการทำแผนธุรกิจก่อนให้เงินลงทุนอีก 2 ราย(ธุรกิจด้านอาหารและเครื่องสำอางค์) รวมเงินลงทุน 60 ล้านบาท นอกจากนี้มี SMEs ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมลงทุนอีก 20 ราย(ธุรกิจด้านอาหาร ยานยนต์ และไอที) รวม 300 ล้านบาท

นางสาลินี กล่าวว่า ธนาคารฯ ยังมั่นใจว่าปีนี้จะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 40,000 ล้านบาทตามเป้าหมายที่วางไว้ แม้ในช่วง 9 เดือนของปีนี้ จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ 22,391 ล้านบาท และยังขาดอยู่อีกถึง 18,000 ล้านบาทก็ตาม เนื่องจากมีความมั่นใจในศักยภาพการทำงานของสาขาที่มีอยู่ 95 แห่งทั่วประเทศ ประกอบกับมีการปรับเปลี่ยนผู้ดูแลสายงานวิเคราะห์สินเชื่อ ซึ่งจะทำให้การวิเคราะห์สินเชื่อหรือการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่ลูกค้าเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็มีความรอบคอบมากขึ้นด้วย

ด้านนายพงชาญ สำเภาเงิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ SME Bank กล่าวว่า ได้ให้นโยบายแก่เจ้าหน้าที่ในการวิเคราะห์สินเชื่อว่าลูกค้าที่มีศักยภาพนั้น ธนาคารฯจะส่งเสริมอยู่แล้ว ส่วนลูกค้าที่มีฐานะทางการเงินที่เราต้องช่วยประคองธุรกิจนั้นเราจะช่วยให้คำที่ปรึกษา และร่วมมองแนวทางการแก้ไขปัญหาของธุรกิจให้แก่ลูกค้า ซึ่งทำให้ปัจจุบันสามารถอนุมัติสินเชื่อในแต่ละวันได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 2 เท่า และจะพยายามทำให้เพิ่มมากขึ้นเป็น 3-4 เท่า โดยล่าสุดมียอดอนุมัติสินเชื่อประมาณ 300 ล้านบาทต่อวัน

นางสาลินี กล่าวถึงเป้า NPLs ที่ธนาคารตั้งไว้ ณ สิ้นปีนี้ว่าจะอยู่ที่ราว 20,000 ล้านบาทว่า ปัจจุบันยอด NPLs ของธนาคารฯ ณ สิ้นเดือน ก.ย.58 อยู่ที่ 26,123 ล้านบาท ซึ่งการที่จะทำให้ยอด NPLs ลดลงมาใกล้เคียงกับเป้าที่ตั้งไว้นั้นคงต้องเน้นเรื่องการขายเป็นหลัก เพราะการปรับโครงสร้างหนี้นั้นได้ทำไปมากแล้ว และต้องพยายามปล่อยสินเชื่อใหม่ในลักษณะที่เป็น Good Loan และเป็นไปตามพันธกิจของธนาคารฯ ให้ได้ รวมทั้งต้องไม่ลืมเรื่องการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และเรื่อง Venture Capital ซึ่งเป็นพันธกิจที่สำคัญและยังทำได้น้อย

ด้านนายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ SME Bank กล่าวว่า ยอด NPLs ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันที่ประมาณ 26,000 ล้านบาทนั้น ในจำนวนนี้ 80% เป็นลูกค้ารายย่อยมากกว่า 20,000 ราย ซึ่งแนวทางการทำงานเรื่องแกัปัญหา NPLs ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ธนาคารฯ ไม่ได้มุ่งเน้นการใช้กระบวนการทางด้านกฎหมายเพื่อดำเนินคดีในการติดตามหนี้สินเป็นหลัก แต่ธนาคารฯ จะเน้นเรื่องการเชิญลูกค้ามาหารือเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลูกค้าหาทางออกในการดำเนินธุรกิจที่ติดขัดอยู่ได้

Back to top button