3 โบรกฯ คาดผลงานครึ่งปีหลัง BJC แกร่ง! รับยอดขายขวดแก้วพุ่ง-ดีมานด์ค้าปลีกฟื้น

นักวิเคราะห์ 3 สถาบัน แนะนำซื้อ BJC มองราคายังถูก-แนวโน้มผลงานครึ่งปีหลังแกร่ง! รับยอดขายขวดแก้วพุ่ง-ดีมานด์ค้าปลีกฟื้น


บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า สถานการณ์โควิดน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาส 3/64 เป็นต้นไป หลังทยอยฉีดวัคซีนแล้ว โดยขณะนี้ภาครัฐทยอยนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้แก่ประชาชนแล้ว และจะนำเข้ามาฉีดต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าผู้ได้รับการฉีดวัคซีนในสิ้นปีนี้ราว 70% ของประชากรทั้งหมด และพร้อมเปิดประเทศต้นปีหน้า จึงคาดว่าคนไทยจะทยอยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ภายในครึ่งปีหลังนี้

พร้อมกันนี้จะส่งผลให้ธุรกิจของ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ และน่าจะดีขึ้นชัดเจน หลังเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยได้ คาดว่าจะเกิดในต้นปีหน้า และจะช่วยให้ธุรกิจของ BIGC พลิกฟื้นอย่างชัดเจน เพราะ BIGC มีหลายสาขาที่ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมักเข้ามาใช้บริการ อาทิ ราชดำริ หัวหิน พัทยา และเชียงใหม่ ขณะที่คาดกำไรสุทธิปี 64 ยังเติบโต 19% และฟื้นตัวชัดเจนราว 30% ในปี 65

ด้าน น.ส.ธรีทิพย์ วงษ์แสงไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย กล่าวว่า Valuation ของ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ได้สะท้อนภาพแรงกดดันการบริโภคภายในประเทศในช่วงสั้นพอสมควร และอยู่ในโซนค่อนข้างต่ำ ขณะเดียวกันก็คาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะค่อยๆ ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อบิ๊กซี (BIGC) ในระยะถัดไป

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/64 มองว่ายังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับภาพรวมการบริโภค โดยคาดว่าตัวเลขยอดขายต่อสาขาเดิม (SSSG) เดือน เม.ย.64 จะติดลบอยู่ในกรอบราว -1% ถึง -3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าปีก่อนจะฐานต่ำแล้วก็ตาม ขณะที่ในเดือน พ.ค.นี้ มีแนวโน้มปรับตัวลงมากขึ้น เนื่องจากครึ่งเดือนแรกของเดือน พ.ค.63 มีการคลายล็อกดาวน์บ้างแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าบางส่วนที่ต้องปิดไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของภาครัฐ ทำให้บิ๊กซีมีความจำเป็นที่จะต้องให้ส่วนลดค่าเช่ากับผู้เช่าบางราย เพื่อรักษาระดับอัตราการเช่า ส่วนธุรกิจอื่นๆ ภาพรวมไม่ได้รับผลกระทบมากเมื่อเทียบกับ BIGC แต่ก็เริ่มเห็นการปรับตัวขึ้นของเยื่อกระดาษและน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้าในกลุ่มสบู่ ขนมขบเคี้ยว หรือกระดาษ ปรับตัวขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นแรงกดดันต่ออัตรากำไรขั้นต้นในช่วงไตรมาส 2/64 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะมาช่วยลดทอนผลกระทบ คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพ การปรับปรุงคุณภาพสินค้าอาหารสดของ BIGC และการควบคุมใช้จ่ายด้าน SG&A ในช่วงก่อนหน้า

ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุในบทวิเคราะห์ฯคาดว่า กำไรไตรมาส 2/64 ของ BJC จะกลับมาเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก และช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธุรกิจบรรจุภัณฑ์คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง จากยอดขายขวดแก้วเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเครื่องดื่ม (non-alcohol) และกลุ่มอาหาร ส่งออกได้มากขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิดในต่างประเทศคลี่คลายลง

ขณะที่ยอดขายกระป๋องอลูมิเนียมจะฟื้นตัว เนื่องจากลูกค้าที่ส่งออกสินค้าไปเมียนมากลับมาส่งสินค้าไปได้มากขึ้นกว่าไตรมาสแรกที่มีปัญหาด้าน Supply chain และระบบธนาคาร อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการควบคุมต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ส่วนกลุ่มสินค้าเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ คาดว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดีจากการขายเครื่องเอ็กซ์เรย์ และมีการส่งมอบวัคซีนไข้หวัดใหญ่

สำหรับกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในไตรมาส 2/64 ยังถูกกดดันจากการจับจ่ายใช้สอยชะลอตัว และต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น แต่การควบคุมต้นทุนได้ดีช่วยลดผลกระทบได้ส่วนหนึ่ง ส่วนยอดขายของ BIGC ตั้งแต่ต้นไตรมาส 2/64 จนถึงปัจจุบันยังลดลงกว่า 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากผลกระทบของโควิด แต่แนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นฟื้นตัวจากการปรับปรุงคุณภาพสินค้าอาหารสด และเน้นขายสินค้าที่มีอัตรากำไรดี ขณะที่รายได้ค่าเช่าคาดว่าจะยังลดลงจากการให้ส่วนลดค่าเช่า 10% ส่วนการกลับเข้าไปซื้อ MM Mega Market Vietnam ยังอยู่ในแผน แต่ยังไม่มีกำหนดระยะเวลา

ทั้งนี้ BJC ยังคงตั้งเป้ายอดขายปีนี้เพิ่มขึ้น 1-7% จากการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจ โดยธุรกิจบรรจุภัณฑ์ได้ผลบวกจากกระแส Sustainable packaging และการเปลี่ยนจากการใช้กระป๋องเหล็กมาเป็นอลูมิเนียม อีกทั้งมีการผลิตกระป๋องขนาดใหม่ และการเติบโตของ Functional drink ส่วนเป้าหมายอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 50 bps จากกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์และสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าใช้จ่ายยังควบคุมได้ดี อีกทั้งค่าใช้จ่ายพนักงานลดลงหลังปรับโครงสร้างองค์กรเมื่อกลางปีก่อน

 

Back to top button