สภาฯโหวตแก้ พ.ร.ก. แพ่ง-พาณิชย์ ลดอัตราดอกเบี้ยปรับ-ผิดนัดชำระหนี้

รายงานจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นชอบพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ ด้วยคะแนน 403 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่มีผู้ไม่ลงคะแนนเสียง


รายงานข่าว จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ ด้วยคะแนน 403 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่มีผู้ไม่ลงคะแนนเสียง

โดย นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ตนสนับสนุนการดำเนินการเรื่องนี้จากการที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) ระบุว่า ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงสะท้อนสภาพการณ์ปัจจุบัน เอสเอ็มอีจะได้ประโยชน์ลดการฟ้องร้องเพราะภาระดอกเบี้ยลดลง โดยเฉพาะดอกเบี้ยผิดนัดแต่ไม่สะเด็ดน้ำเพราะยังมีปัญหาอยู่มาก และประชาชนตั้งความหวังสูงด้วยเห็นข้อความที่ยื่นเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำให้คนคาดหวังว่าดอกเบี้ยจะลงทันที เพราะมาตรการที่ใช้ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)คือต้องรวดเร็ว เข้มข้น เป็นธรรมและทั่วถึง ถ้วนหน้า ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่จนถึงวันนี้ดอกเบี้ยยังไม่ลดลง

“คนที่ได้ประโยชน์จาก พ.ร.ก.ฉบับนี้มีน้อยมากซึ่งแก้ปัญหาสินเชื่อในระบบได้เพียง 0.1% เท่านั้น จึงขอเสนอให้ออกพ.ร.ก.อีกฉบับ โดยให้ครอบคลุมในทุกกรณีและอยากให้รัฐบาล กระทรวงคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปแก้ประกาศที่ยกเว้น ที่เปิดช่องให้ใช้เกินมาตรา 654 ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็น 15% ต่อปี” และรับปากได้หรือไม่ว่าจะแก้เพดานเงินกู้ตามมาตรา 654 ลดลงด้วย” นายเกียรติ กล่าว

ด้าน นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ถือว่า ล่าช้าและต้องรอถึง 95 ปี โดยเฉพาะการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดที่ผิดนัดเพียงงวดเดียวแต่ถูกคิดดอกเบี้ยผิดนัดจากเงินต้นที่เหลือทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้เป็นอย่างมาก พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าความเสียหายก่อนหน้าที่มีการปรับปรุงกฎหมายใครเป็นคนรับผิดชอบ เพราะมีลูกหนี้หลายรายต้องรับภาระดอกเบี้ยพอกพูน หรือกลายเป็นหนี้เสียในที่สุด

ขณะที่ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เรียกร้องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตีความว่าการให้อำนาจกระทรวงการคลัง เพื่อขึ้นดอกเบี้ยโดยไม่ผ่านกระทรวงนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่ ซึ่งกรณีที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 7 ปรับเพิ่มดอกเบี้ยได้นั้น ผลกระทบจะตกอยู่ที่ประชาชน

“พ.ร.ก.ฉบับนี้ เหมือนจะดีแต่ไม่ดี เหมือนน้ำผึ้งอาบยาพิษ เหมือนเหยื่อที่เกี่ยวเบ็ด ปลากินแล้วก็ได้…เป็นการเขียนเช็คเปล่าให้กระทรวงการคลังไปออกอะไรก็ได้ใช่หรือไม่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 หรือไม่ อีกทั้งกระบวนการออกกฎหมายของรัฐบาลชุดนี้ ใช้วิธีการปิดปากสภาผู้แทนราษฎร ออกเป็นพ.ร.ก.แล้วแก้ไขรายละเอียดไม่ได้” นายธีรัจชัย กล่าว

ส่วน นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย มองว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ไปผูกพันกับลูกหนี้รายใหญ่ ซึ่งมีอำนาจต่อรองกับสถาบันการเงินสูงและมองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการเอื้อให้กับนายทุนที่เป็นลูกหนี้ของธนาคาร ส่งผลให้สถาบันการเงินเกิดความสับสนการคิดอัตราดอกเบี้ยใหม่ให้กับลูกหนี้ ซึ่งสิ่งที่เป็นห่วงคือผลกระทบต่อภาคธุรกิจ การลงทุน และการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินและอาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาล ทำให้เกิดความวุ่นวายในอนาคตจึงเห็นว่ารัฐบาลควรออก พ.ร.ก.อีก 1 ฉบับ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับเดิมให้เกิดความความชัดเจน

สำหรับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ที่มาของการออก พ.ร.ก. เพื่อมาแก้ปัญหาวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ถือเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงเพราะถ้าหากอีก 2 ปีสถานการณ์เริ่มกลับเป็นปกติ จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยตรงนี้หรือไม่

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) ได้ชี้แจงการออกพ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 เพิ่มเติมว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ย 3% ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยยึดหลักความเป็นธรรมกับลูกหนี้ และพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งในขณะนี้สถานการณ์โควิดยังคงมีการแพร่ระบาดต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการเดือดร้อนจึงต้องมีผลบังคับใช้ทันที ทั้งนี้ข้อเสนอต่างๆ ทางกระทรวงการคลังจะรับไปพิจารณาเพิ่มเติมที่จะทำให้การคิดดอกเบี้ยสามารถครอบคลุมทุกภาคส่วนได้

อย่างไรก็ตาม การที่กำหนดให้กระทรวงการคลังทบทวนดอกเบี้ยได้ทุก 3 ปี ยืนยันว่ากระทรวงการคลังจะไม่นิ่งเฉยเพราะในกฎหมายจะต้องปฏิบัติ ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไรต้องดูเรื่องความเป็นธรรมและยังไม่ด่วนสรุปเพราะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรวมถึงต้องรับฟังความคิดจากฝ่ายต่างๆ ด้วย

อนึ่ง มาตรา 654 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้นก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

สำหรับ มาตรา 26 การตรากฎหมายการใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ

Back to top button