สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 15 มิ.ย. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 15 มิ.ย. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (15 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่ยอดค้าปลีกของสหรัฐลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อยังสร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนที่กำลังรอดูผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่า คณะกรรมการเฟดจะเริ่มอภิปรายเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมครั้งนี้

โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,299.33 จุด ลดลง 94.42 จุด หรือ -0.27% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,246.59 จุด ลดลง 8.56 จุด หรือ -0.20% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,072.86 จุด ลดลง 101.29 จุด หรือ -0.71%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (15 มิ.ย.) เป็นวันที่ 8 ติดต่อกัน โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ แต่การปรับตัวขึ้นของตลาดเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายขณะรอดูการประชุม 2 วันของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันอังคารและพุธนี้

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 458.81 จุด เพิ่มขึ้น 0.49 จุด หรือ +0.11%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,639.52 จุด เพิ่มขึ้น 23.17 จุด หรือ +0.35%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,729.52 จุด เพิ่มขึ้น 55.88 จุด หรือ +0.36% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,172.48 จุด เพิ่มขึ้น 25.80 จุด หรือ +0.36%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (15 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้น แต่การที่รัฐบาลอังกฤษเลื่อนกำหนดเวลายกเลิกมาตรการจำกัดต่างๆ เพื่อควบคุมโรคโควิด-19 นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาดโดยรวม

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,172.48 จุด เพิ่มขึ้น 25.80 จุด หรือ +0.36%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (15 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากความหวังที่ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันจะฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่หลายประเทศมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งผลสำรวจของนักวิเคราะห์ระบุว่าสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐมีแนวโน้มลดลงกว่า 4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. พุ่งขึ้น 1.24 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 72.12 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 2561

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 1.13 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 73.99 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2562

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ (15 มิ.ย.) เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อตลาด นอกจากนี้ นักลงทุนยังระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่จะรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่วันพรุ่งนี้ตามเวลาไทย

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 9.5 ดอลลาร์ หรือ 0.51% ปิดที่ 1,856.4 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2564

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 34.6 เซนต์ หรือ 1.23% ปิดที่ 27.693 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 16.7 ดอลลาร์ หรือ 1.43% ปิดที่ 1,148.6 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 8.20 ดอลลาร์ หรือ 0.3% ปิดที่ 2,764.80 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (15 มิ.ย.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ก่อนที่นักลงทุนจะรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.01% แตะที่ 90.5363 เมื่อคืนนี้

ดอลลร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2191 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2145 ดอลลาร์แคนาดา แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8984 ฟรังก์ จากระดับ 0.9000 ฟรังก์ และทรงตัวเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 110.09 เยน

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2124 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2117 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.4083 ดอลลาร์ จากระดับ  1.4108 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7682 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7708 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button