PRM เดินหน้าปั้มรายได้ปีนี้โต 10% รับกองเรือเพิ่ม-ธุรกิจ Offshore หนุน

PRM แนวโน้มผลงานไตรมาส 2/64 ใกล้เคียงไตรมาส 1/64 เดินหน้าปั้นรายได้ปีนี้โต 10% รับกองเรือเพิ่ม-ธุรกิจ Offshore หนุน


นายวิริทธิ์พล จุไรสินธุ์ ผู้อำนวยการสายงานการเงินและบัญชี บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM นำเสนอข้อมูลภาพรวมธุรกิจบริษัทและสรุปผลประกอบการไตรมาส 1/2564 สิ้นสุด 31 มี.ค.2564 รวมทั้งแผนธุรกิจในปี 2564 ในงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day) ในวันที่ 18 มิ.ย.2564 ว่า ไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้ 1,423.9 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,505.6 ล้านบาท ขณะที่กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 546.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 501.1 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักที่ส่งผลให้รายได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 ปรับตัวลดลง เนื่องจากมีการหยุดซ่อมบำรุงเรือ และได้รับผลกระทบจากการแพร่ไวรัสโควิด-19 ในการขนส่งน้ำมันลดลง

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2564 คาดใกล้เคียงไตรมาส 1 ปี 2564 เนื่องจากธุรกิจเรือในประเทศยังประสบปัญหาเดิมในการส่งน้ำมัน Jet A-1 ประกอบกับการรับรู้รายได้จากบริษัท ไทยออยล์มารีน จำกัด (TM) ยังไม่เข้ามาในไตรมาสนี้ ส่วนผลการดำเนินงานเรือขนส่งและกักเก็บปิโตรเลียมกลางทะเล (FSU) คาดมีการปรับตัวลงเล็กน้อย

สำหรับงบลงทุนในปีนี้นั้นก่อนหน้านี้บริษัทฯ วางงบลงทุนสำหรับการต่อเรือเล็กที่ประเทศจีน 3-5 ลำ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันจึงทำให้ไม่สามารถเดินทางไปที่ประเทศจีนได้ จึงชะลอออกไปก่อน นอกจากนี้ยังวางงบลงทุนราว 2,000 ล้านบาท เพื่อซื้อเรือขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่ (VLCC) แต่เนื่องจากสถานการณ์ที่ผันผวน บริษัทจึงต้องบริหารจัดการกองเรือให้สอดคล้องกับความต้องการใช้บริการของลูกค้าก่อน

ทั้งนี้บริษัทยังคงตั้งเป้าผลการดำเนินงานในปี 2564 เติบโต 10% ทั้งนี้หากมีการเปิดประเทศในอีก 120 วัน จะส่งผลดีต่อความต้องการใช้น้ำมันอากาศยาน ทำให้บริษัทสามารถกลับมาขนส่งน้ำมัน Jet A-1 ไปที่ทางภาคใต้ได้ตามเดิม

ด้าน นายพชร รอดสมบูรณ์ ผู้จัดการฝ่ายการเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ PRM เปิดเผยว่า จากการที่บริษัทเข้าซื้อกิจการบริษัท ไทยออยล์มารีน จำกัด (TM) จากบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ทำให้บริษัทฯ มีเรือจาก TM เพิ่มขึ้นจำนวน 5 ลำ ซึ่งเป็นเรือขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นไปยังคลังน้ำมัน โดย 3 ใน 5 ลำ ได้รับการว่าจ้างภายใต้สัญญาระยะยาวรูปแบบ TC ต่ออีก 5 ปี เพื่อให้บริการกับกลุ่ม TOP และอีก 1 ลำจะมีสัญญาระยะเวลา 2 ปี โดยเป็นการให้บริการแก่ลูกค้าเคมีภัณฑ์ของญี่ปุ่น ส่วนอีก 1 ลำ จะเป็นเรือบรรทุกสารเคมีที่จะดำเนินการภายใต้สัญญาแบบ Spot Contract

ส่วนธุรกิจเรือขนส่งและสนับสนุนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (Offshore) จากเดิมที่บริษัทฯ มีอยู่ 1 ลำ ทั้งนี้จากการที่การสำรวจและผลิตน้ำมันปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยมีมากขึ้น ดังนั้นเรือ Crew Boat ที่ใช้เพื่อรองรับในการขนส่งอุปกรณ์เครื่องจักร และส่งทั้งพนักงาน วิศวกรจากชายฝั่งไปยังแท่นขุดเจาะ จึงมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจากการซื้อ TM ทำให้บริษัทฯ มีเรือในส่วนนี้เข้ามาอีก 13 ลำ และได้เริ่มมีการรับรู้รายได้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 64 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงความเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม TOP ต่อไป โดยทางบริษัทจะเป็นผู้ให้บริการเรือขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่ (VLCC) ขนาดบรรทุกมากกว่า 300,000 DWT เพิ่ม 3 ลำ โดยเป็นการขนส่งน้ำมันจากแหล่งซื้อของ TOP ทางฝั่งตะวันออกกลางมายังโรงกลั่นภาคตะวันออก โดยเรือแต่ละลำจะมีสัญญา 10 ปี ซึ่งได้ให้บริการเรือลำแรกแล้วเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา ส่วนลำที่ 2 คาดว่าเรือจะเข้ามาในช่วงครึ่งปีแรกของปี 65 และลำที่ 3 จะเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังของปี 65 ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจเรือขนส่งระหว่างประเทศมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ทางบริษัทจะเป็นผู้ให้บริการด้านการประสานงาน (Ship Agent Service) ทั้งการจัดการท่าเรือ หรือการดำเนินธุรกรรมเรื่องภาษีกับทางกลุ่ม TOP ต่อไปอีก 5 ปี ในขณะเดียวกันทางบริษัทอาจมีการเจรจาบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัทลูกในกลุ่ม TOP ซึ่งจะเป็นการทำสัญญาในรูปแบบ Strategic Partnership

โดยสรุปภายหลังจากการซื้อกิจการ TM ส่งผลให้บริษัทฯ มีเรือขนส่งในประเทศเพิ่มเป็น 35 ลำ, เรือขนส่งระหว่างประเทศเพิ่มเป็น 4 ลำ, เรือ Offshore เพิ่มเป็น 14 ลำ และเรือขนส่งและกักเก็บปิโตรเลียมกลางทะเล (FSU)  จำนวนเท่าเดิมคือ 8 ลำ

Back to top button