QTC คว้างานหม้อแปลงไฟฟ้ากฟน. กว่า 123 ลบ. มั่นใจทั้งปีรายได้เข้าเป้า 1.2 พันลบ.
QTC คว้างานหม้อแปลงไฟฟ้า “กฟน.” มูลค่ากว่า 123 ลบ. ดัน Backlog แตะ 470 ลบ. มั่นใจทั้งปีรายได้เข้าเป้า 1.2 พันลบ.
นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC เปิดเผยว่า แม้ว่าสถานการณ์ การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ที่เกิดขึ้นช่วงครึ่งปีแรกอาจจะกระทบขั้นตอนการส่งมอบงานโครงการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าให้มีความล่าช้าไปบ้าง แต่บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นเร่งปรับกลยุทธ์สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการหาโอกาสเพิ่มปริมาณคำสั่งซื้อจากกลุ่มของลูกค้าภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเดินหน้าเข้าประมูลงานโครงการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่คาดว่าจะเปิดประมูลโครงการใหม่ช่วงที่เหลือของปีนี้มูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท
ล่าสุด บริษัทฯ คว้างานประมูลจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าตามคำสั่งซื้อหม้อแปลงไฟฟ้า จากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มูลค่ารวมกว่า 123 ล้านบาท เป็นปัจจัยสนับสนุนมูลค่างานในมือทั้งหมด (Backlog) ในไตรมาส 2/2564 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 470 ล้านบาท โดยคาดว่าจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ทั้งหมดในช่วงครึ่งปีหลัง ในขณะที่ยอดคำสั่งซื้อ(order) หม้อแปลงไฟฟ้าจากต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศออสเตรเลีย ยังคงทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วนการส่งออกดังกล่าวคิดเป็น 30 % ของรายได้รวม ส่งผลให้ภาพรวมรายได้ตลอดทั้งปี 2564 จะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายแตะ 1,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,037.24 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 157.56 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเร่งแผนการขยายตลาดในธุรกิจเทรดดิ้ง ภายใต้การเป็นตัวแทนจำหน่ายโซลาร์เซลล์ให้กับ LONGI Solar การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Huawei Solar Inverter มากขึ้น เนื่องจาก สินค้าดังกล่าว มีความต้องการเพิ่มขึ้นจากกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างที่เป็นทั้งผู้ออกแบบ จัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งในโครงการ (EPC) ตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ บริษัทฯ คาดว่ายอดขายผลิตภัณฑ์ Huawei Solar Inverter ตลอดปี 2564 จะเติบโตมากกว่าเท่าตัวจากปี 2563 โดยมีเป้าหมายประมาณ 160-200 ล้านบาท ตามความต้องการของตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงในช่วงที่เหลือของปีนี้
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังเพิ่มความหลากหลายของช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์เซลล์ ผ่าน E-Commerce แพลตฟอร์มออนไลน์ นำร่องขยายเข้ากลุ่มลูกค้าทั่วไป B2C ภายในไตรมาสสาม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดเป็นวงกว้างมากขึ้น จากปัจจุบันจำหน่ายในกลุ่มลูกค้าองค์กร B2B เท่านั้น
“กลยุทธ์สำคัญของบริษัทฯ ปีนี้ นอกเหนือจากแผนเพิ่มยอดขายและขยายกลุ่มลูกค้าในกลุ่มธุรกิจหลักแล้ว การควบคุมต้นทุนในทุกๆ มิติเป็นสิ่งที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าประเทศไทยจะกลับมาเกิดวิกฤติโควิด-19 ระลอก 3 และการปรับตัวขึ้นราคาของวัตถุดิบหลักทั้งทองแดงและเหล็กทุกชนิด แต่บริษัทฯ ยังสามารถทำกำไรบนโมเดลธุรกิจที่มุ่งเน้นกระจายความเสี่ยง ไม่ต้องการผูกติดกับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งจากแนวคิดแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพทำกำไรให้บริษัทฯ ระยะยาว ” นายพูลพิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย