“โควิด-19” ทำพิษ! คนไทยเมินบอลยูโร 2020 ฉุดเงินสะพัดต่ำสุดรอบ 10 ปี

"หอการค้าไทย" เผย โควิด-19 ทำเงินสะพัดฟุตบอลยูโร 2020 เหลือ 6.2 หมื่นล้านบาท ลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี  พร้อมรอประเมินอีกครั้ง ก.ค.นี้ หลังรัฐบาลเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกระลอก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 มิถุนายน 2564) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ  เปิดเผยถึงผลสำรวจ “พฤติกรรมและการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในช่วงมหกรรมฟุตบอลยูโร ปี2020″ พบว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19  มีผลกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนทำให้มีการใช้จ่ายน้อยลง  ทั้งในส่วนของการใช้จ่ายในระบบและนอกระบบ ส่งผลทำให้เงินสะพัดโดยรวมในช่วงฟุตบอลยูโร 2020 ลดลงร้อยละ 20.3 ต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 62,440 ล้านบาท

ทั้งนี้ แยกเป็นเงินสะพัดในระบบจากการซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์การดูฟุตบอลและอาหารจัดเลี้ยง 15,200 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15.1 และมีเงินสะพัดนอกระบบจากการพนันฟุตบอล 45,800 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 22.3  ซึ่งการเล่นพนันส่วนใหญ่เป็นการเล่นพนันออนไลน์  และมีเป้าหมายเพื่อต้องการเงินรางวัล  ไม่ได้เล่นเพื่อแฟชั่นหรือความสนุกสนาน และมีการใช้เงินในแต่ละนัด เฉลี่ย 1,000-5,000 บาท โดยที่มาของเงินมาจากเงินออมและรายได้ปกติ

อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินจำนวนดังกล่าว จะมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมในปีนี้ ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 แล้วทั้งปีจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2 โดยความเชื่อมั่นของประชาชน จะสามารถกลับมาได้ หากการกระจายวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล ทำได้ตามแผนและสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ให้อยู่ในวงจำกัดได้ พร้อมสามารถเดินหน้าเปิดประเทศภายใน 120 วัน ตามการประกาศของนายกรัฐมนตรี โดยใช้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นโมเดลสร้างความเชื่อมั่น

นอกจากนี้ หอการค้าไทยจะประเมินผลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอีกครั้ง หลังเดือนกรกฎาคมนี้ โดยต้องรอดูเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจลงสู่ระบบก่อน  แต่เบื้องต้น เห็นว่าวงเงินจากโครงการ “คนละครึ่ง” เฟส 3 เพียง 3,000 ล้านบาท เป็นวงเงินที่อาจน้อยเกินไป  ไม่เพียงพอกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 3 และโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้”  มีเสียงตอบรับจากประชาชนน้อย ไม่มีผลในการฟื้นเศรษฐกิจ

ขณะที่การเข้าพบนายกรัฐมนตรีของภาคเอกชนในวันพรุ่งนี้ ( 23 มิ.ย.64 ) เชื่อว่า จะมีการเสนอขอทบทวนวงเงินจำนวนดังกล่าวจากโครงการคนละครึ่ง และการปัดฝุ่นโครงการ “ช็อปดีมีคืน” ซึ่งเป็นโครงการเดิม ให้นำกลับมาใช้อีกครั้ง รวมถึงการแก้ไขปัญหาของภาคธุรกิจในการเข้าถึง Soft Loan  การปรับโครงสร้างหนี้และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพราะยังติดขัดในระบบต่างๆ  ที่ไม่สามารถกระจายในการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจได้อย่างกว้างขวาง โดยเชื่อว่า รัฐบาลจะมีมาตรการที่ผ่อนคลายมากขึ้น

Back to top button