โฆษกศบค. ยัน “ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์” เปิดตามกำหนด! “ยะลา” พบโควิดสายพันธุ์เบต้า
โฆษก ศบค. ยืนยัน การเปิดภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ ยังทำได้ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อรายจังหวัดยังน้อย ด้านยะลา พบยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เบต้า จากศูนย์มันกัสยะลาแล้ว 402 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 มิ.ย. 2564) นายแพทย์ ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. กล่าวถึงกรณีที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันนี้สูงถึง 4 พันราย หลายคนถามว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ยังทำอยู่หรือไม่ แต่การติดเชื้อยังสูง 4 พันกว่าราย แนวทางการเรียนรู้และจัดการกับโรค คือ เกิดตรงไหนจะจัดการปิดเฉพาะตรงนั้น โดยพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานี มีสมุยและพะงัน ตัวเลขยังเป็นหลักเดียว เช่น 7 ราย 4 ราย 1 ราย 9 ราย ต้องขอบคุณชาวสุราษฎร์ฯ ที่ดูแลการติดเชื้ออย่างดี การท่องเที่ยวแบบแซนด์บ็อกซ์ก็ยังเกิดขึ้นได้ ส่วนภูเก็ตพบผู้ป่วยเพียง 2-5 ราย วันนี้ 4 ราย สะสม 701 ราย ต้องขอคนภูเก็ต นโยบาย ผอ.ศบค.ที่วางไว้ ก็อยากให้เป็นเช่นนั้นอยู่ การเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ยังคงนโยบายไว้ได้
ส่วนเงื่อนไขหลักเกณฑ์การยกเลิกเปิดประเทศการท่องเที่ยวภูเก็ตนั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เปิดได้ปิดได้ขึ้นกับสถานการณ์การระบาด ที่ประชุมนำเสนอและหยิบยกมาพูดคุย เพื่อสร้างความมั่นใจประชาชนว่า หากมีอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ชะลอหรือยกเลิกโครงการ อย่างภูเก็ต คือ
1.ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 รายต่อสัปดาห์
2.มีการกระจาย 3 อำเภอมากกว่า 6 ตำบล
3.ระบาดมากกว่า 3 คลัสเตอร์หรือระบาดในวงกว้างหาสาเหตุความเชื่อมโยงไม่ได้
4.มีความพร้อมรองรับผู้ติดเชื้อครองเตียง 80% ขึ้นไป หรือคนไข้จะล้น
หรือ 5.ระบาดเชื้อกลายพันธุ์แบบวงกว้างควบคุมไม่ได้ ก็ต้องมาทบทวน ส่วนจะปิดไปเลยไหมคงไม่ใช่ มาตรการจะเป็นขั้นๆ มี 4 ระดับ คือ ลดกิจกรรม ซีลรูท โฮเทลควอรันทีน และทบทวนยุติ ส่วนสมุย พะงัน เกาะเต่า หากเกิดการระบาดเกินศักยภาพการรองรับของ รพ.เกาะสมุย
ด้านนพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวอัพเดทถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ของโรงเรียนสอนศาสนามัรกัส ยะลา ว่า ช่วงที่เกิดการระบาดในโรงเรียนสอนศาสนามัรกัส ยะลา เป็นช่วงปิดภาคเรียนที่มีการทำกิจกรรมเพื่อรอเปิดภาคเรียนในวันที่ 14 มิ.ย. 64 แต่ทางจังหวัดได้มีการเลื่อนเปิดภาคเรียน
ทำให้นักเรียนเดินทางกลับบ้านในวันที่ 12 มิ.ย. 64 จึงทำให้ตัวเลขจากศูนย์ดังกล่าวยังไม่แน่ชัด แต่ตัวเลขกลุ่มเสี่ยงที่สามารถตามตัว และ Swab ไปแล้ว 700 คน ติดเชื้อกว่า 400 คน และในแต่ละจังหวัดจะได้รายชื่อจาก สสจ.ยะลา เพื่อตามตัว รวมทั้งผู้บริหารของโรงเรียนได้แจ้งกับนักเรียนให้ไปรายงานตัวที่สาธารณสุข โดยโรงเรียนสอนศาสนาในศูนย์มัรกัสยะลา เป็นโรงเรียนสอนศาสนาขนาดใหญ่ที่มีผู้มาเรียนจากทั่วประเทศ
ส่วนการคาดการณ์ต้นตอการระบาดในครั้งนี้ นพ.สงกรานต์ กล่าวว่า พี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนใต้ หลังจากเดือนรอมฎอน จะมีเทศกาลที่คล้ายกับวันขึ้นปีใหม่ ที่จะเดินทางไปพบปะญาติพี่น้อง มีการจัดเลี้ยงกัน ซึ่งประมาณปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา นักเรียนก็จะเดินทางกลับมาเพื่อเตรียมเรียนภาคการศึกษาใหม่ แต่มีการเลื่อนเปิดเรียนออกไป นักเรียนจึงเดินทางกลับ ดังนั้น การระบาดของคลัสเตอร์นี้ น่าจะอยู่ในช่วงปลายเดือน พ.ค. จากคลัสเตอร์ที่ระบาดในชุมชนที่เกี่ยวกับการพบปะกันสังสรรค์กัน
นพ.สงกรานต์ ยังกล่าวด้วยว่า เชื้อที่ตรวจเจอเป็นเชื้อเบต้า ซึ่งกำลังรอการสอบสวนโรคที่เชื่อมโยงกัน เพื่อหาแหล่งที่มาว่ามาจากแหล่งใด โดยผลที่ออกมาว่าเป็นเชื้อเบต้า เป็นผลการตรวจจากภูเก็ต ซึ่งผลการตรวจเชื้อของยะลา ยังไม่ได้รับรายงาน แต่ก็มีมาตรการจัดการขั้นสูงสุด ห้ามเดินทางเข้า-ออกจังหวัด
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ ศบค. เมื่อวานที่ผ่านมา คลัสเตอร์ศูนย์มัรกัส จังหวัดยะลา พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 402 คน กระจายใน 12 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส 111 คน, ยะลา 102 คน, สตูล 46 คน, ปัตตานี 46 คน, สงขลา 36 คน, กระบี่ 18 คน, พัทลุง 13 คน, นครศรีธรรมราช 10 คน, สุราษฎร์ธานี 9 คน, พังงา 5 คน, ตรัง 3 คน และภูเก็ต 3 คน
อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ของจังหวัดยะลา โดยเฉพาะคลัสเตอร์มัรกัส ทางโรงพยาบาลสนามภายในโรงเรียนศึกษาพิเศษ เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต.บุดี อ.เมือง จ.ยะลา ได้เตรียมแผนขยายโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 1 หลัง ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดยะลาได้เร่งติดตั้งระบบไฟฟ้าภายในอาคาร พร้อมเปิดใช้งาน