EXIM BANK ชี้ทางรอด “SMEs” รุกตลาดส่งออก – เชื่อม Supply Chain เสริมสภาพคล่อง
EXIM BANK ชี้ทางรอด “SMEs” รุกตลาดส่งออกต่างประเทศและเชื่อมต่อ Supply Chain เพื่อเสริมภาพคล่องธุรกิจให้เข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกขึ้นและมีต้นทุนต่ำลง เพื่อนำไปสู่การเติบโตร่วมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK ได้เข้าร่วมงานสัมมนาหัวข้อ “อนาคต SMEs ไทยเติบโตสู่ Supply Chain โลก” พร้อมเปิดเผยว่า การแก้ปัญหาความย้อนแย้งในเชิงโครงสร้างของ SMEs ไทย โดยเฉพาะการที่ SMEs ไทยมีจำนวนมากถึง 3.1 ล้านราย หรือคิดเป็น 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งระบบ แต่มีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจเพียง 35% ของ GDP รวมเท่านั้น สาเหตุสำคัญมาจาก SMEs ไทยส่วนใหญ่ค้าขายภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ผู้ส่งออก SMEs มีเพียง 3 หมื่นราย หรือไม่ถึง 1% ของ SMEs ทั้งระบบ
โดยการขยายตลาดภายในประเทศมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น เศรษฐกิจไทยโตต่ำ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขยายตัวเพียง 2% ตลาดมีขนาดไม่ใหญ่ จำนวนประชากรเพียง 66 ล้านคน ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยยังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ซึ่งมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีมากถึง 18% ของประชากรรวม
ทั้งนี้ทางรอดของ SMEs ไทยที่เป็นตลาดเล็ก และเพิ่มยอดขายได้ค่อนข้างยาก จึงต้องทำการสนับสนุน SMEs ให้ทำการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ 2 แนวทาง แนวทางแรก คือการยกระดับไปเป็นผู้ส่งออก ซึ่งแนวทางนี้อาจต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาองค์ความรู้และเสริมประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ
ส่วนแนวทางที่สองสามารถทำได้ทันที คือ การสนับสนุนให้ SMEs เข้าไปอยู่ใน Supply Chain ของผู้ส่งออก โดยให้ธุรกิจส่งออกขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ Supply Chain ค้ำจุนผู้ประกอบการ SMEs ให้มีโอกาสขายสินค้าเพิ่มมากขึ้นและยาวนานภายใต้ Supply Chain ที่แข็งแรง ซึ่งคาดการณ์ว่าปัจจุบันมี SMEs ไทยจำนวนไม่น้อยเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ผู้ส่งออกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เนื่องจากภาคส่งออกไทยพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศ (Local Content) ถึงเกือบ 70% ของมูลค่าส่งออกรวม
นอกจากนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ Global Supply Chain เปลี่ยนไปในหลายมิติและทุกขั้นตอน ตั้งแต่การหาวัตถุดิบ, การผลิต, การขนส่งและกระจายสินค้า, การขาย รวมถึงตัวสินค้าเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบจากแหล่งใกล้ ๆ มากขึ้น ประกอบกับมีการนำระบบ Automation มาใช้เพื่อลดการสื่อสารระหว่างแรงงานในกระบวนการผลิต ขณะเดียวกัน จะต้องวางแผนขนส่งหลากหลายช่องทาง รวมทั้งการทำประกันและปรับเทอมการค้าให้ครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ประกอบกับการขายสินค้าใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยสินค้าต้องสอดรับกับเทรนด์ใหม่ ๆ ของโลก เพื่อสร้างการจดจำและความจงรักภักดีต่อแบรนด์
“การฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจไทย ต้องเริ่มต้นที่ฐานราก คือการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้มีแรงขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านเงินทุนและอำนาจต่อรอง โดยอาศัยพันธมิตรทางธุรกิจเป็นสะพานเชื่อมไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ที่นำไปสู่การเติบโตร่วมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อย กระตุ้นให้เกิดการค้าและธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัล เพื่อความสะดวกรวดเร็วแก่ภาคธุรกิจและผู้บริโภค ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยตลอดทั้ง Supply Chain เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความแข็งแกร่งและพร้อมเริ่มต้นกับโอกาสครั้งใหม่หลังวิกฤตโควิด-19″ นายรักษ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม EXIM BANK พร้อมสนับสนุน SMEs ไทยให้เข้าสู่หรือเชื่อมโยงกับ Supply Chain ในวงจรการค้าระหว่างประเทศ โดยได้เปิดบริการ “สินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจร (EXIM Supply Chain Financing Solution)” เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ SMEs ที่เป็น Suppliers ของผู้ประกอบการรายใหญ่ (Sponsor) โดยไม่ต้องใช้หลักประกันเพิ่ม สามารถนำ Invoice มาใช้ยื่นขอสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษผ่าน Digital Platform ได้ วงเงินกู้สูงสุด 25% ของยอดขายรวมปีล่าสุด โดยอ้างอิงบนเครดิตที่แข็งแรงของ Sponsor
ทั้งนี้ บริการดังกล่าวช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกขึ้นและมีต้นทุนต่ำลง มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกรรมทางออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ธนาคาร ขณะที่ Sponsor ซึ่งเป็นลูกค้า EXIM BANK จะได้รับเครดิตเทอมเพิ่มจากคู่ค้าที่เป็น SMEs และมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน เป็นประโยชน์ในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคตข้างหน้า
“สินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจร มีวงเงินกู้สูงสุด 25% ของยอดขายรวมปีล่าสุด และสามารถเบิกกู้สูงสุด 90% ของมูลค่า Invoice โดยไม่ต้องใช้หลักประกันเพิ่ม และสามารถนำ Invoice มาใช้ยื่นขอสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษผ่าน Digital Platform ได้ โดยอ้างอิงบนเครดิตที่แข็งแรงของผู้ประกอบการรายใหญ่” นายรักษ์กล่าว
ทั้งนี้บริการดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกขึ้นและมีต้นทุนต่ำลง ประกอบกับมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกรรมทางออนไลน์โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ธนาคาร ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งเป็นลูกค้า EXIM BANK จะได้รับเครดิตเทอมเพิ่มจากคู่ค้าที่เป็น SMEs และมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน โดยจะเป็นประโยชน์ในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคตข้างหน้า
โดยกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า สำหรับผู้ที่มีความสนใจสินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจร ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ คือ เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนแล้ว และมีการค้าขายกับผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยสามารถมาสมัครด้วยตัวบริษัทเอง หรือสมัครพร้อมกับผู้ประกอบการรายใหญ่ก็ได้ แต่หากเป็นบริษัทที่เพิ่งเปิดทำการ และยังไม่มีโปรไฟล์ อาจต้องมีการเข้าคอร์สในโรงเรียนเพื่อฝึกวิชาความรู้ก่อน ในขณะเดียวกันธนาคารจะจัดหาธุรกิจที่มีความเหมาะสมให้กับธุรกิจนั้นๆ ด้วย”
ทั้งนี้ EXIM BANK ตั้งเป้าว่าใน 4 ปี จะสามารถทำการสนับสนุนการส่งออกต่างประเทศของธุรกิจ SMEs ให้ได้จำนวน 1 แสนราย
สำหรับต้นแบบ Supply Chain ที่แข็งแกร่งภายใต้การสนับสนุนของ EXIM BANK ได้แก่ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ส่งออก-นำเข้าและศูนย์รวมวัสดุก่อสร้างและสินค้าไลฟ์สไตล์ครบวงจรของไทย ซึ่งมีสินค้าจำหน่ายกว่า 270,000 รายการ และมี Suppliers ใน Supply Chain เป็นจำนวนมาก อาทิ บริษัท วิชั่น กลาส แอนด์ ดอร์ อินดัสเทรียล จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง จำหน่ายผลิตภัณฑ์ประตูและกระจกตกแต่งบ้าน บริษัท คาร์ชายน์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดรถยนต์ บริษัท อุดร เก้าเจริญทรัพย์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก จำหน่ายไม้แปรรูปจากต่างประเทศ บริษัท เอ็ม.เจ.พาราวู๊ด จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไม้ บริษัท ว.พลาสติก (2002) จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก จำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติก